ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค

หน้าที่ : 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50
51 52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64 65 66 67 68 69 70 71 72 73 74
75
76 77 78 79 80 81 82 83 84 85 86 87 88 89 90 91 92 93 94
95 96 97 98 99 100
101 102 103 104
105 106 107 108 109 110 111 112 113 114 115
116 117
118 119 120 121 122 123 124 125 126 ค้นหาหัวข้อธรรม

ละความชั่วทั้งปวง ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ใสบริสุทธิ์...

. ทานบารมี

ปุตฺตทารธนานิ อุปกรณ ปริจาโค ทานปารมี ฯ (จริยปิฎกอรรถกถา)

เจตนาที่สามารถสละให้ซึ่ง บุตร ภรรยา ธนสารสมบัติ เป็นต้นนั้น เรียกว่า ทานบารมี

คำว่า ทาน หมายถึงการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่ผู้รับ จัดเป็นให้เพื่ออนุเคราะห์ ให้เพื่อสงเคราะห์ ให้เพื่อบูชาคุณ

ให้เพื่ออนุเคราะห์ เป็นการให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่าตนในอายุ กำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังปัญญา เช่น การเลี้ยงดูบุตรธิดา ให้แก่ผู้ที่ยากจนขัดสน คนพิการทุพพลภาพ เป็นต้น การให้เพื่ออนุเคราะห์ มีความเมตตากรุณาเป็นมูล

ให้เพื่อสงเคราะห์ เป็นการให้แก่บุคคลในชั้นเดียวกันเสมอกัน เช่น เพื่อนฝูง มิตรสหาย เป็นต้น การให้เพื่อสงเคราะห์นี้มีความรักความนับถือเป็นมูล

ให้เพื่อบูชาคุณ เป็นการให้แก่บุคคลที่ทรงคุณควรคารวะบูชา ได้แก่ บิดา มารดา ครู อาจารย์ อุปัชฌาย์ ท่านผู้มีคุณแก่ตน หรือ ผู้ทรงคุณวุฒิ การให้เพื่อบูชาคุณนี้ มีความกตัญญู ความเคารพบูชา เป็นมูล

อนึ่ง การบริจาคทรัพย์เพื่อบำรุงพระพุทธศาสนาก็ดี บำรุงสาธารณกุสลทั่วไป เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน สร้างถนน สร้างสะพานต่าง ๆ เหล่านี้ก็ดี ก็อนุโลมเข้าในการให้เพื่อบูชาคุณ คือ บูชาคุณความดีแห่งบุญกุสลที่ทำให้ตนได้เกิดมาเป็นมนุษย์ อันเป็นความกตัญญูต่อบุญกุสลนั่นเอง

ทานนี้จำแนกประเภทได้เป็นหลายอย่างหลายกระบวน ในที่นี้ขอนำมาแสดงเพียง ๒ นัย คือ

นัยหนึ่ง จำแนกทานออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ วัตถุทาน อภัยทาน และธรรมทาน

วัตถุทาน เป็นการทำบุญให้ทานด้วยการให้สิ่งของต่าง ๆ สิ่งของที่ให้นั้นเมื่อสรุปแล้วก็มี ๕ อย่าง คือ

. ธนปริจาค              การสละซึ่ง ธนสารสมบัติ

. ปุตฺตปริจาค             การสละซึ่ง บุตร

. ภริยาปริจาค            การสละซึ่ง ภรรยา

. องฺคปริจาค              การสละซึ่ง ส่วนของร่างกาย

. ชีวิตปริจาค             การสละซึ่ง ชีวิต

อภัยทาน เป็นการทำบุญด้วยการช่วยชีวิตคนหรือสัตว์ให้พ้นจากอันตราย ช่วยป้องกันภัยที่จะทำลายทรัพย์สมบัติให้สูญเสียไป ตลอดจนการให้ความไม่มีภัยแก่ผู้ที่ทำให้ตนเดือดร้อนเสียหาย

ธรรมทาน เป็นการทำบุญด้วยการสอน การแสดงธรรม ให้ผู้อื่นเข้าใจถึงบาปบุญคุณโทษ ตลอดจนการสร้างหนังสือธรรมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา

อีกนัยหนึ่ง จำแนกทานออกเป็น ๓ ชั้น ได้แก่ หีนทาน เป็นทานชั้นต่ำ มัชฌิมทาน เป็นทานชั้นกลาง ๆ และปณีตทาน เป็นทานชั้นสูง

หีนทาน กล่าวโดยเจตนาในการให้ ก็เป็นการบริจาคด้วยความมุ่งหวังในชื่อเสียงเกียรติคุณ กล่าวโดยวัตถุสิ่งของที่ให้ ก็ให้วัตถุสิ่งของที่เลวกว่า ที่ด้อยกว่าที่ตนเคยบริโภคใช้สอยเป็นประจำตามปกติ

มัชฌิมทาน กล่าวโดยเจตนาในการให้ ก็เป็นการบริจาคที่มุ่งหวังความสุขในมนุษย์สมบัติ ในเทวสมบัติ กล่าวโดยวัตถุสิ่งของที่ให้ ก็ให้วัตถุสิ่งของที่ดีทัดเทียมกับที่ตนเคยบริโภคใช้สอยอยู่เสมอ ๆ นั้น

ปณีตทาน กล่าวโดยเจตนาในการให้ ก็เป็นการบริจาคที่มุ่งพระนิพพานหวังพ้นจากกองทุกข์ทั้งมวล กล่าวโดยวัตถุสิ่งของที่ให้ ก็ให้วัตถุสิ่งของที่ประณีตกว่า ดีกว่าที่ตนเคยบริโภคใช้สอยอยู่เป็นประจำ

อานิสงส์แห่งทานกุสล อังคุตตรอรรถกถา แสดงว่า

ทานํ สคฺคสฺส โสปาน        ทานกุสลจัดเป็นบันใดชั้นแรกที่จะนำขึ้นสู่สวรรค์

ทานํ ปาเถยฺยมุตฺตมํ         ทานกุสลจัดว่าเป็นเสบียงอันประเสริฐ

ทานํ อุชุคตํ มคฺคํ               ทานกุสลจัดว่าเป็นทางสายตรงไปสู่พระนิพพาน

ทานํ โมกฺขปทํ วรํ              ทานกุสลจัดว่าเป็นบาทให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น

ในคัมภีร์ สัททสารัตถชาลินี แสดงว่า

ปุพฺเพ ทานาทิกํ กตฺวา อิทานิ ลภตี สุขํ มูเลว สิญฺจิตํ โหติ อคฺเค จ ผลทายกํ ฯ

บุคคล บำเพ็ญบุญ มีทานเป็นต้น ในปางก่อน ย่อมได้ความสุขในบัดนี้ เหมือนคนรดน้ำที่โคนต้นไม้ (ต้นไม้นั้น) ย่อมให้ผลที่ยอด (คือปลายกิ่ง) ฉะนั้น

ปริจาคลกฺขณา ทานบารมี ฯ (จริยปิฎกอรรถกถา) ทานบารมี มีการบริจาค เป็นลักษณะ

ทานบารมี ที่กล่าวยืดยาวไปหน่อย เพราะทานบารมีเป็นเครื่องอุปการะให้เกิดบารมีอื่น ๆ คือ ความสำเร็จแห่งบารมีอื่น ๆ นั้น ต้องอาศัยทานบารมีนี้เป็นพื้นฐาน


จัดทำโดย มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
ศีล สมาธิ ปัญญา... หนทางสายเอก...