ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค

หน้าที่ : 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50
51 52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64 65 66 67 68 69 70 71 72 73 74
75
76 77 78 79 80 81 82 83 84 85 86 87 88 89 90 91 92 93 94
95 96 97 98 99 100
101 102 103 104
105 106 107 108 109 110 111 112 113 114 115
116 117
118 119 120 121 122 123 124 125 126 ค้นหาหัวข้อธรรม

ละความชั่วทั้งปวง ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ใสบริสุทธิ์...

การเจริญอรูปกัมมัฏฐาน

. อรูปกัมมัฏฐาน หมายถึง เอาอารมณ์ที่ไม่มีรูปเป็นที่ตั้งแห่งการงานทางใจ ที่เจาะจงเอาอารมณ์ที่ไม่มีรูปนั้น ก็เพราะปรารถนาจะไปเกิดในภูมิที่ไม่มีรูป ให้มีแต่เพียงนามเท่านั้น ที่ปรารถนาเช่นนี้ด้วยเหตุผลของบุคคล ๒ พวก

. พวกหนึ่งมีความสำคัญว่า บุคคลที่จะทุกข์ก็เพราะมีรูปกายเป็นสื่อนำทุกข์มาให้ เช่น การตีรันฟันแทงกันก็ดี เป็นโรคภัยไข้เจ็บก็ดี เกิดความหิว ความกระหายก็ดี ตลอดจนการกำหนัดรักใคร่ซึ่งกันและกันก็ดี ล้วนแต่เกิดเนื่องมาจากรูปร่างกายทั้งสิ้น ถ้าปราศจากรูปร่างกายแล้ว สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะไม่เกิด เพราะไม่มีที่อาศัยให้เกิด ก็เกิดเบื่อหน่ายในรูปร่างกาย จึงปรารถนาจะเป็นบุคคลที่ไม่มีรูป มีแต่จิตใจเท่านั้น

. อีกพวกหนึ่งไม่ได้ปรารภถึงโทษของรูปร่างกายอย่างที่กล่าว แต่เห็นว่าฌานที่ต้องอาศัยรูปเป็นอารมณ์นั้น หยาบกว่าฌานที่ไม่ใช้รูปเป็นอารมณ์ สมาธิที่เกิดจากรูปก็ต้องหยาบกว่าสมาธิที่เกิดจากสิ่งที่ไม่ใช่รูป ดังนั้น สมาธิที่เกิดจากอรูปฌานต้องมีกำลังมั่นคงและประณีตมาก ปรารถนาจะได้ฌานที่ประณีตยิ่ง และมีกำลังมั่นคง จึงเจริญอรูปกัมมัฏฐาน

. ผู้ที่จะเจริญอรูปกัมมัฏฐาน จะต้องเป็น รูปาวจรปัญจมฌานลาภีบุคคล คือบุคคลที่ได้รูปฌาน ๕ มาแล้ว และมีวสีภาวะในฌานทั้ง ๕ นั้นโดยสมบูรณ์เป็นอย่างดีด้วย จึงจะเจริญอรูปกัมมัฏฐานได้ อรูปกัมมัฏฐานมี ๔ ได้แก่

. กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ                   เป็นอรูปกัมมัฏฐานให้ถึง                        อากาสานัญจายตนฌาน

. อากาสานัญจายตนฌาน                     เป็นอรูปกัมมัฏฐานให้ถึง                        วิญญาณัญจายตนฌาน

. นัตถิภาวบัญญัติ                           เป็นอรูปกัมมัฏฐานให้ถึง                        อากิญจัญญายตนฌาน

. อากิญจัญญายตนฌาน                 เป็นอรูปกัมมัฏฐานให้ถึง                    เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

. ผู้ต้องการถึง อากาสานัญจายตนฌาน ต้องกระทำอากาสบัญญัติที่ได้มาจากการเพิกกสิณทั้ง ๙ (เว้นอากาสกสิณ) ให้เป็นอารมณ์ อากาสบัญญัติที่ได้มาจากเพิกกสิณแล้วนั้น มีชื่อว่า กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ ซึ่งบางทีก็เรียกกันสั้น ๆ ว่า อากาสบัญญัติ เท่านั้นก็ได้ หน่วงเอากสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมในใจว่า อากาโส อนนฺโต อากาโส อนนฺโต อากาสไม่มีที่สิ้นสุด

คำว่า อากาสไม่มีที่สิ้นสุดนี้ มีความหมายว่า ธรรมดาอากาสนั้นเป็นบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถ ฉะนั้นจึงไม่มีเบื้องต้น คือ การอุบัติขึ้น และไม่มีเบื้องปลาย คือการดับไป นี่แหละที่เรียกว่า อนนฺโต ส่วนการบริกรรมนั้น จะใช้แต่เพียง อากาโส อากาโส หรือ อากาสํ อากาสํ เท่านี้ก็ได้

อนึ่ง ใน มิลินทปัญหา นิพพานปัญหา ได้แสดงคุณของอากาสไว้ ๑๐ ประการ ดังนี้

() น ชียติ                  ไม่แก่

() น มียติ                  ไม่ตาย

() น จวติ                   ไม่จุติ

() น อุปฺปชฺชติ       ไม่เกิด

() อปฺปสยฺหํ         ไม่มีใครข่มเหง

() อโคจรคหณียํ        ไม่มีโจรลัก

() อนิสฺสิตํ                 ไม่มีที่พึ่งอาศัย

() วิหงฺคคมนํ     เป็นทางไปของเหล่าวิหงค์(สัตว์ที่ไปในอากาศเวหา)

() นิราวรณํ                ไม่มีอะไรกั้น

(๑๐) อนฺนตํ                    ไม่มีแดนที่สุด

. เมื่อบริกรรมว่า อากาสไม่มีที่สิ้นสุด โดยไม่พะวงถึงนิมิตของกสิณที่จะเพิก แต่มาใฝ่ใจในความว่างเปล่าของอากาสบัญญัติ การใฝ่ใจย่อมทวีกำลังมากขึ้น สติก็จะตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิ

ครั้นสติตั้งมั่นแน่แน่วจนสามารถเพิกปฏิภาคนิมิตแห่งกสิณ ซึ่งเป็นนิมิตกัมมัฏฐานที่ติดแนบแน่นใจอยู่นั้นเสียได้โดยเด็ดขาดในเวลาใด อากาสบัญญัติก็ปรากฏขึ้นในเวลานั้น อากาสานัญจายตนฌานก็เกิดขึ้นพร้อมกันในทันทีนั้นด้วย เป็นอันว่าโยคีผู้นั้นถึงซึ่งอัปปนาสมาธิ สำเร็จเป็นอากาสานัญจายตนฌานลาภีบุคคล

. อากาสานัญจายตนฌานนี้ มีชื่อเรียกได้เป็น ๓ อย่าง คือ อรูปฌาน ๑  อากาสานัญจายตนฌาน ๑ และ ปฐมารุปปฌาน ๑

ที่เรียกว่า อรูปฌาน เพราะว่า ปัญจมฌานลาภีบุคคลนี้มิได้สนใจเพ่งปฏิภาคนิมิตที่เป็นรูปเป็นอารมณ์แต่ประการใดเลย เมื่อฌานจิตเกิดขึ้น ฌานจิตนี้ก็ปราศจากรูปเป็นอารมณ์ ดังนั้นจึงเรียกว่า อรูปฌาน

ที่เรียกว่า อากาสานัญจายตน เพราะว่าฌานจิตนี้มีความมั่นคง ตั้งอยู่โดยไม่หวั่นไหว เกิดขึ้นโดยอาศัยอากาสบัญญัติ ซึ่งไม่ปรากฏเบื้องต้น คือ ความเกิด เบื้องปลายคือความดับนั้นอยู่ที่ไหน ดังนั้นจึงเรียกว่า อากาสานัญจายตนฌาน

ที่เรียกว่า ปฐมารุปปฌาน เพราะว่าภายหลังที่ได้เว้นจากบัญญัติกัมมัฏฐานที่เกี่ยวกับรูปได้แล้ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ได้ก้าวล่วงอารมณ์ที่เป็นรูปกัมมัฏฐานได้แล้ว และมาถึงฌานที่มีอารมณ์อันไม่ใช่รูปเป็นอันดับแรก เป็นอันดับที่ ๑ จึงได้ชื่อว่า ปฐมารุปปฌาน

. อากาสานัญจายตนฌานลาภีบุคคล ผู้มีวสีภาวะทั้ง ๕ ในอากาสานัญจายตนฌาน คล่องแคล่วเป็นอย่างดีแล้ว จึงจะสามารถเจริญสมถภาวนา เพื่อให้ถึงวิญญาณัญจายตนฌานได้

. ในการเจริญให้ถึง วิญญาณัญจายตนฌาน ก็มีนัยเป็นทำนองเดียวกับ อากาสานัญจายตนฌาน คือ

ชั้นต้นต้องไม่พะวง กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ คือ อากาสบัญญัติ แต่ให้ไปใส่ใจในอากาสานัญจายตนฌาน ที่ตนถึงแล้วและดับไปแล้วนั้น โดยการพยายามพรากใจออกจากอากาสบัญญัตินั้นเสีย พากเพียรยึดหน่วงให้อากาสานัญจายตนฌานมาปรากฏแทน โดยบริกรรมว่า วิญฺญาณํ อนนฺตํ วิญฺญาณํ อนนฺตํ หรือ วิญฺญาณํ วิญฺญาณํ มีความหมายว่า หน่วงเอาวิญญาณ คือตัวที่รู้ว่าอากาศไม่มีที่สิ้นสุดนั้นมาเป็นอารมณ์

๑๐. เมื่อพยายามเจริญอยู่อย่างนี้เรื่อย ๆ ไป จนจิตใจปราศจากนิกันติตัณหาในกสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ คือ อากาสบัญญัติ ก็ได้ชื่อว่า ภาวนาจิตนั้นขึ้นสู่ขั้น อุปจาระ แล้ว

๑๑. เจริญภาวนาต่อไป จนอากาสบัญญัติที่เป็นนิมิตกัมมัฏฐานสูญหายไปจากใจ ก้าวล่วงอารมณ์ที่เป็นอากาสบัญญัติ ซึ่งแนบแน่นในจิตใจเสียได้ในเวลาใดแล้ว เวลานั้นแหละ อากาสานัญจายตนฌานก็ปรากฏเป็นอารมณ์ขึ้นแทน จิตที่มีอากาสานัญจายตนฌานเป็นอารมณ์นี่แหละ มีชื่อว่า วิญญาณัญจายตนฌานจิต บุคคลที่ได้ที่ถึงวิญญาณัญจายตนฌานจิตนั้น เรียกว่า วิญญาณัญจายตนฌานลาภีบุคคล

๑๒. วิญญาณัญจายตนฌาน เรียกว่า ทุติยารุปปฌาน ก็ได้ อันมีความหมายว่า เป็นการได้การถึงฌานที่มีอารมณ์อันไม่ใช่รูป คือ อรูปฌาน เป็นอันดับที่ ๒ เป็นขั้นที่ ๒

๑๓. ผู้ต้องการเจริญสมถภาวนา เพื่อให้ถึง อากิญจัญญายตนฌาน จะต้องเป็น วิญญาณัญจายตนฌานลาภีบุคคล ผู้มีวสีในวิญญาณัญจายตนฌานนั้นจนชำนาญคล่องแคล่วทั้ง ๕ ประการ

๑๔. การเจริญให้ถึง อากิญจัญญายตนฌาน ก็มีนัยเป็นทำนองเดียวกับ วิญญาณัญจายตนฌาน กล่าวคือ

ชั้นต้นต้องเลิกพะวงถึงการเอาอากาสานัญจายตนฌานมาเป็นอารมณ์ พยายาม พรากอารมณ์ที่เป็นอากาสานัญจายตนฌานนั้นให้ได้ ด้วยการหน่วงเอา นัตถิภาวบัญญัติ หรือ อภาวบัญญัติ คือ ความไม่มีอะไร มาเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า นตฺถิ กิญฺจิ นตฺถิ กิญฺจิ นิดหนึ่งก็ไม่มี หน่อยหนึ่งก็ไม่มี ถือเอาความไม่มีมาเป็นอารมณ์ มีความหมายว่า ไม่มีอากาสานัญจายตนฌานมาเป็นอารมณ์ แม้แต่สักนิดเดียวหน่อยเดียวก็ไม่มี อันเป็นการพยายามก้าวล่วงอารมณ์ของทุติยารุปปฌาน ซึ่งเป็น ธมฺมนิยม คือ เป็นธรรมเนียม เป็นภาวะตามธรรมชาติของอรูปฌานชั้นที่สูงกว่า ย่อมก้าวล่วงอารมณ์ของอรูปฌานชั้นที่ต่ำกว่า ตามลำดับไป

๑๕. เมื่อได้พยายามบริกรรมนัตถิ กิญจิ อยู่เรื่อยๆ ไปจนจิตใจปราศจากความติดใจยินดีในอากาสานัญจายตนฌาน ก็ได้ชื่อว่า ภาวนาจิตนั้นขึ้นสู่ขั้นอุปจาระแล้ว

๑๖. ครั้นเจริญภาวนาต่อไปจนอากาสานัญจายตนฌาน ที่เป็นนิมิตกัมมัฏฐาน สูญหายไปจากใจ ก้าวล่วงอารมณ์ที่เป็นอากาสานัญจายตนฌาน ซึ่งแนบแน่นในจิตใจเสียได้แล้วในเวลาใดเวลานั้นแหละนัตถิกิญจิ ก็ปรากฏเป็นอารมณ์ขึ้นมาแทน จิตที่มีนัตถิกิญจิเป็นอารมณ์นี้ก็คือ อากิญจัญญายตนฌาน เป็นฌานที่มีความไม่มีเป็นอารมณ์ โยคีที่ได้ที่ถึง อากิญจัญญายตนฌานนี้เรียกว่า อากิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคล

๑๗. อากิญจัญญายตนฌาน เรียกว่า ตติยารุปปฌาน ก็ได้ ซึ่งมีความหมายว่า เป็นการได้การถึงฌานที่มีอารมณ์อันมิใช่รูป คือ อรูปฌาน เป็นอันดับที่ ๓ เป็นขั้นที่ ๓

๑๘. อากิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคล ผู้ที่ได้ฝึกฝนตนเองจนชำนิชำนาญในวสีภาวะทั้ง ๕ แห่ง อากิญจัญญายตนฌานโดยสมบูรณ์เป็นอย่างดีแล้ว จึงจะสามารถเจริญสมถภาวนาให้ถึง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ได้

๑๙. ต้องเริ่มเจริญโดยการพยายามพรากใจออกมาจาก หรือให้ก้าวล่วงจาก นัตถิภาวบัญญัติ แต่ให้หน่วงเอาอากิญจัญญายตนฌานเป็นอารมณ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ให้ทิ้งอารมณ์ของอากิญจัญญายตนฌาน คือ นัตถิภาวบัญญัติเสีย และให้จับจิตที่มีอารมณ์ นัตถิภาวบัญญัติ คือ อากิญจัญญายตนฌานจิตนั้นมาเป็นอารมณ์ในการบริกรรม โดยบริกรรมว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ สงบหนอ ประณีตหนอ หรือ สนฺตํ สนฺตํ ปณีตํ ปณีตํ เท่านี้ก็ได้

ที่บริกรรมว่า สงบหนอ ประณีตหนอ เพราะอากิญจัญญายตนฌาน จิตที่หน่วงเอาความไม่มีมาเป็นอารมณ์นั้น เป็นจิตที่มีสัญญาที่ละเอียดมาก ประณีตมาก และสงบมากด้วย สัญญานั้นสงบและประณีตมากจนแทบจะไม่รู้สึกว่ามี

๒๐. เมื่อบริกรรมดังกล่าวนี้ ด้วยความพยายามเรื่อยไปไม่ทอดทิ้ง จนจิตใจปราศจากความยินดีหมดความติดใจใน นัตถิภาวบัญญัติ ก็ได้ชื่อว่า ภาวนาจิตนั้นขึ้นสู่ขั้น อุปจาระแล้ว

๒๑. ครั้นเจริญภาวนาต่อไป จนนัตถิภาวบัญญัติ ที่เป็นนิมิตกัมมัฏฐานแก่อากิญจัญญายตนฌานนั้น ปราศจากไปจากจิตใจแล้ว ก้าวล่วงนัตถิภาวบัญญัติอารมณ์ ซึ่งแนบแน่นในจิตใจเสียได้ในเวลาใดแล้ว เวลานั้นแหละ อากิญจัญญายตนฌาน ก็จะปรากฏเป็นอารมณ์ขึ้นมาแทน นัตถิภาวบัญญัติจิตที่มี อากิญจัญญายตนฌานเป็นอารมณ์นี้เอง ที่เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน บุคคลที่ได้ที่ถึง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นี่แหละที่มีชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌานลาภีบุคคล

๒๒. ที่เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นั้นมีความหมายว่า เป็นฌานที่ไม่มีสัญญาหยาบ มีแต่สัญญาที่ละเอียดที่ประณีต สมกับที่บริกรรมว่า สงบหนอ ประณีตหนอ อีกนัยหนึ่งมีความหมายว่า เป็นฌานที่จะว่าไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ จะว่ามีสัญญาก็ไม่เชิง

๒๓. เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เรียกว่า จตุตถารุปปฌาน ก็ได้ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นอรูปฌานอันดับที่ ๔ ขั้นที่ ๔ อันเป็นอันดับที่สูงสุดแห่งอรูปฌาน และสูงสุดในบรรดาฌานสมาบัติทั้ง ๙

๒๔. ขอกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การเจริญอรูปกัมมัฏฐานนี้ แม้ว่าจะเจริญให้ถึงฌานได้ก็ดี แต่เมื่อกล่าวโดยนิมิตแล้ว มีเพียง อุคคหนิมิตเท่านั้น ไม่ถึงปฏิภาคนิมิต กล่าวโดยภาวนา ถึงอัปปนาภาวนา กล่าวโดยสมาธิก็ถึง อัปปนาสมาธิ


จัดทำโดย มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
ศีล สมาธิ ปัญญา... หนทางสายเอก...