ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค

หน้าที่ : 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50
51 52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64 65 66 67 68 69 70 71 72 73 74
75
76 77 78 79 80 81 82 83 84 85 86 87 88 89 90 91 92 93 94
95 96 97 98 99 100
101 102 103 104
105 106 107 108 109 110 111 112 113 114 115
116 117
118 119 120 121 122 123 124 125 126 ค้นหาหัวข้อธรรม

ละความชั่วทั้งปวง ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ใสบริสุทธิ์...

ภาวนา และ นิมิต

. ปริกมฺม ภาวนา จ อุปจารปฺปนา ตถา ปริกมฺม อุคฺคหญฺจ นิมิตฺตํ ปฏิภาคิยํ ฯ

. ภาวนญฺจ นิมิตฺตญฺจ ติธา ติธา วิภาวเย ตาฬีส กมฺมฏฺฐาเนสุ นโยยํ ปริทีปิโต ฯ

บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนา อัปปนาภาวนา บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต

พระโยคาวจรพึงยังภาวนาและนิมิตให้เกิด โดยประเภทอย่างละ ๓ อย่างละ ๓ นี้ ท่านแสดงไว้ในกัมมัฏฐาน ๔๐

มีความหมายดังจะกล่าวต่อไปนี้

. บริกรรมนิมิต คำว่า บริกรรมแปลว่า การบำเพ็ญ ท่องบ่น หรือ กำหนดใจ นิมิต แปลว่า เครื่องหมาย บริกรรมนิมิตจึงรวมแปลว่า เครื่องหมายที่กำหนด เครื่องหมายที่เพ่ง ในที่นี้ก็ได้แก่ กัมมัฏฐาน ๔๐ มี กสิณ เป็นต้นนั่นเอง

หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเพ่งกัมมัฏฐานใด กัมมัฏฐานนั้นแหละเป็นบริกรรมนิมิต เช่น เพ่งปฐวีกสิณ ก็ปฐวีกสิณที่เพ่งนั้นแหละ คือ บริกรรมนิมิต

. อุคคหนิมิต แปลว่า นิมิตติดตา หมายความว่า เมื่อเพ่งปฐวีกสิณจนดวงกสิณนั้นติดตา ไม่ว่าจะลืมตาอยู่หรือแม้จะหลับตา ก็เห็นดวงกสิณนั้นแจ่มแจ้งชัดเจนทุกกระเบียดนิ้ว จนกระทั่งว่าถ้ามีอะไรติดอยู่หรือมีรอยขีดอยู่ที่ดวงกสิณนั้นสักนิดเดียว ก็เห็นได้แจ่มชัด เหมือนหนึ่งว่า ลืมตามองเห็นอยู่ฉะนั้น

. ปฏิภาคนิมิต มีความหมายว่า นิมิตคือ ดวงปฐวีกสิณนั้นติดตาอยู่เหมือน กัน แต่ว่าสีแห่งกสิณตลอดจนริ้วรอยหรือตำหนิอย่างใด ๆ ที่ดวงกสิณนั้นจะไม่ปรากฏเลย คงปรากฏว่าดวงกสิณนั้นใส สะอาด บริสุทธิ์ ดุจดวงแก้วมณี ตลอดจนจะขยายปฏิภาคนิมิตนั้นให้ใหญ่ขึ้นหรือย่อให้เล็กลง ก็ได้ตามความปรารถนา

. นิมิตทั้ง ๓ ที่กล่าวมาข้างต้น กล่าวโดยอาศัยกัมมัฏฐานที่มีรูปพรรณสัณฐาน สีสรร วัณณะนั้นเป็นหลัก เช่น กสิณ และอสุภะ เป็นต้น อันจะต้องเริ่มต้นเพ่งด้วยนัยน์ตา ที่เรียกว่า บริกรรมนิมิต จึงจะเห็นติดตาที่เรียกว่า อุคคหนิมิต ส่วนกัมมัฏฐานที่ไม่มีรูปร่าง เช่น อนุสสติ เป็นต้น ไม่ได้เริ่มต้นเพ่งด้วยนัยน์ตา แต่เพ่งด้วยใจ คือ กำหนดใจให้ระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น คุณของพระพุทธเป็นต้นที่เพ่งด้วยใจนี้ ก็เรียกว่า บริกรรมนิมิต ครั้นจิตใจซาบซึ้งถึงพระคุณนั้นอย่างชัดเจนแน่แน่วจนกระชับจับใจเช่นนี้ ก็เรียกว่าอุคคหนิมิต เหมือนกัน แต่เป็นอุคคหนิมิตติดใจ ไม่ใช่อุคคหนิมิตติดตาเหมือนอย่างก่อน

 . สมถกัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ เป็นบริกรรมนิมิต และอุคคหนิมิตทั้ง ๔๐

ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น มีได้ในกัมมัฏฐาน ๒๒ เท่านั้นคือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปาณสติ ๑

แม้แต่ อัปปมัญญา ๔ และอรูปกัมมัฏฐาน ๔ ที่ถึง อัปปนาภาวนา (คือถึงฌาน) ก็ไม่ถึง ปฏิภาคนิมิต เป็นได้เพียง อุคคหนิมิต เท่านั้น

. บริกรรมภาวนา คำว่า ภาวนา แปลว่า อบรมให้มีขึ้น อบรมให้เกิดขึ้น และให้เจริญยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้น บริกรรมภาวนา จึงรวมแปลว่า อบรมให้มีการกำหนดใจขึ้น อบรมให้เกิดการท่องบ่นในใจขึ้น การบำเพ็ญให้มีขึ้น

กัมมัฏฐานที่กำลังเพ่งอยู่นั้นเรียกว่า บริกรรมนิมิต ภาวนาจิตที่มีบริกรรมนิมิตเป็นอารมณ์นั่นแหละ ได้ชื่อว่า บริกรรมภาวนา และเมื่อกล่าวโดยอำนาจแห่งสมาธิ ก็ได้ชื่อว่า บริกรรมสมาธิ

นิมิตที่ถึงกับติดตาติดใจนั้น เรียกว่า อุคคหนิมิต แต่ภาวนาจิตที่มีอุคคหนิมิตเป็นอารมณ์ ก็ยังคงเรียกว่า บริกรรมภาวนา (บริกรรมสมาธิ) อยู่อย่างเดิม

. อุปจารภาวนา คำว่า อุปจาระ แปลว่า ใกล้ บริเวณรอบ ๆ ดังนั้น อุปจารภาวนา จึงรวมแปลว่า อบรมใกล้เข้าไปแล้ว หมายความว่าใกล้จะได้ฌานแล้ว ใกล้จะถึงอัปปนาภาวนาแล้ว

การเพ่งกัมมัฏฐานจนถึงปฏิภาคนิมิตเมื่อใด เมื่อนั้นแหละได้ชื่อว่า อุปจารภาวนา และเมื่อกล่าวโดยอำนาจแห่งสมาธิ ก็มีชื่อว่า อุปจารสมาธิ

. อัปปนาภาวนา คำว่า อัปปนา แปลว่า แนบแน่น หมายความว่า แนบอยู่กับอารมณ์นั้นจนแน่นแฟ้น ไม่โยกคลอน หรือแส่ไปในอารมณ์อื่น อีกนัยหนึ่งแปลว่า ทำลายกิเลสมีนิวรณ์ เป็นต้น ดังนั้น อัปปนาภาวนา จึงรวมมีความหมายว่า อบรมจนแนบแน่นในอารมณ์ที่เพ่ง กิเลสไม่สามารถมารบกวนได้

ต่อจากนี้ อุปจารภาวนา เกิดขึ้นแล้ว ก็เพ่งปฏิภาคนิมิตนั้นโดย อุปจารสมาธิให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ พยายามรักษาจนปฏิภาคนิมิตนั้นแนบแน่น ไม่ให้หายไปได้แล้ว ฌานจิตก็ย่อมจะเกิดขึ้น ตรงนี้แหละที่ได้ชื่อว่า อัปปนาภาวนา เมื่อกล่าวโดยอำนาจแห่งสมาธิ ก็มีชื่อว่า อัปปนาสมาธิ

. กัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ เป็นอารมณ์ของบริกรรมภาวนา ได้ทั้งหมด

ในกัมมัฏฐาน ๑๐ ได้แก่ อนุสสติ ๘ (เว้นกายคตาสติ ๑ อานาปาณสติ ๑) อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ และจตุธาตุววัตถานะ ๑ ย่อมได้เพียงอุปจารภาวนาเท่านั้น อัปปนาภาวนา คือ ฌาน ไม่เกิด

ส่วนกัมมัฏฐานที่เหลืออีก ๓๐ อันได้แก่ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปาณสติ ๑ อัปปมัญญา ๔ และอรูป ๔ ย่อมสำเร็จได้ถึงอัปปนาภาวนา คือ ฌาน


จัดทำโดย มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
ศีล สมาธิ ปัญญา... หนทางสายเอก...