ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค

หน้าที่ : 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50
51 52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64 65 66 67 68 69 70 71 72 73 74
75
76 77 78 79 80 81 82 83 84 85 86 87 88 89 90 91 92 93 94
95 96 97 98 99 100
101 102 103 104
105 106 107 108 109 110 111 112 113 114 115
116 117
118 119 120 121 122 123 124 125 126 ค้นหาหัวข้อธรรม

ละความชั่วทั้งปวง ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ใสบริสุทธิ์...

ฌานลาภีบุคคลเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

. พอเอ่ยคำว่า ฌาน ก็มักจะนึกถึง รูปาวจรจิต แท้จริงคำว่า ฌาน แปลว่า การเพ่งอารมณ์ และการเพ่งอารมณ์ก็มี ๒ ประการ ซึ่งอัฏฐสาลินีอรรถกถา แสดงว่า

ฌานนฺติ ทุวิธํ ฌานํ อารมฺมณูปนิชฺฌานํ ลกฺขณูปนิชฺฌานนฺติ

อันว่า ฌาน นั้นมี ๒ อย่าง คือ อารัมมณูปนิชฌาน อย่างหนึ่ง และลักขณูปนิชฌาน อีกอย่างหนึ่ง

ตตฺถ อฏฺฐ สมาปตฺติโย ปฐวีกสิณาทิอารมฺมณํ อุปนิชฺฌายนฺตีติ อารมฺมณูปนิชฺฌานนฺติ สงฺขยํ คตา

ในฌาน ๒ อย่างนั้น สมาบัติ ๘ จัดเข้าใน อารัมมณูปนิชฌาน เพราะเป็นผู้เข้าไปเพ่งซึ่งอารมณ์ มีปฐวีกสิณ เป็นต้น

วิปสฺสนามคฺคผลานิ ปน ลกฺขณูปนิชฺฌานํ นาม

แต่ว่า วิปัสสนาญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ทั้ง ๓ นี้ ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน

ตตฺถ วิปสฺสนาอนิจฺจาทิลกฺขณสฺส อุปนิชฺฌานโต ลกฺขณูปนิชฺฌาน

ในฌานทั้ง ๓ นั้น วิปัสสนาญาณ ที่ได้ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะเข้าไปกำหนดรู้แจ้งไตรลักษณ์ มีอนิจจลักษณะ เป็นต้น

วิปสฺสนาย กตกิจฺจสฺส มคฺเคน อิชฺฌนโต มคฺโต ลกฺขณูปนิชฺฌาน

มัคคญาณที่ได้ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะเป็นผู้ทำให้กิจที่รู้แจ้งไตรลักษณ์ของวิปัสสนาญาณสำเร็จลง

ผลํ ปน นิโรธสจฺจํ ตถลกฺขณํ อุปนิชฺฌายตีติ ลกฺขณูปนิชฌานํ นาม

ส่วนผลญาณ ที่ได้ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะเข้าไปรู้แจ้งลักษณะอันแท้จริงของนิโรธสัจจ

. มีอธิบายความแตกต่างกันระหว่าง อารัมมณูปนิชฌาน กับลักขณูปนิชฌาน เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้ คือ

กล่าวโดยอารมณ์ อารัมมณูปนิชฌาน มีสมถกัมมัฏฐาน เช่น ปฐวีกสิณ คือ บัญญัติ เป็นต้น เป็นอารมณ์ ส่วนลักขณูปนิชฌานนั้น วิปัสสนาญาณ มีวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือ รูป นาม ไตรลักษณ์ สังขตธรรม เป็นอารมณ์ มัคคญาณ ผลญาณ มีอสังขตธรรม คือนิพพาน เป็นอารมณ์

กล่าวโดยองค์ธรรม อารัมมณูปนิชฌาน มีวิตก วิจาร ปีติ เวทนา เอกัคคตา ที่ประกอบกับมหัคคตฌานทั้ง ๙ เป็นองค์ธรรม ส่วน ลักขณูปนิชฌาน ก็มี วิตก วิจาร ปีติ เวทนา เอกัคคตา ที่ประกอบกับมหากุสลจิต มัคคจิต ผลจิต เป็นองค์ธรรม

. ผู้บรรลุ มัคค ผล นิพพาน นั้นมีอยู่ ๒ จำพวกด้วยกัน คือ สุกขวิปัสสกจำพวกหนึ่ง และฌานลาภีบุคคลอีกจำพวกหนึ่ง

สุกขวิปัสสกบุคคล นั้น เป็นผู้มีวิปัสสนาญาณอันแห้งแล้งจากโลกียฌาน คือ พระอริยบุคคลจำพวกนี้ไม่ได้เจริญสมถภาวนาจนเกิดฌานจิตมาแต่ก่อนเลย เริ่มเจริญวิปัสสนาภาวนาอย่างเดียวจนเป็นพระอริยบุคคล

ส่วน ฌานลาภีบุคคล นั้น หมายถึงผู้ที่ได้เจริญสมถภาวนาจนเกิดฌานจิต มีปฐมญานเป็นต้นมาก่อนแล้ว เป็นฌานลาภีบุคคลมาแล้ว จึงได้มาเจริญวิปัสสนาภาวนาอีก จนเป็นพระอริยบุคคล

. ที่จะกล่าวต่อไปนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ได้ฌานแล้ว มาเจริญวิปัสสนาภาวนาอย่างไร จึงได้เป็นพระอริยบุคคล

. ฌานลาภีบุคคล ที่บำเพ็ญเพียรเจริญวิปัสสนาภาวนา จนเกิดมัคคจิต ผลจิตนั้น มีวิธีที่เจริญภาวนาเป็น ๓ วิธี คือ

. ปาทกฌานวาท  หมายถึง   ถือการเข้าฌานที่เป็นบาทเบื้องต้นแห่งการเจริญภาวนานั้นเป็นสำคัญ

. สัมมสิตฌานวาท หมายถึง ถือการพิจารณาฌานเป็นสำคัญ

. ปุคคลัชฌาสยวาท  หมายถึง   ถือความประสงค์ของฌานลาภีผู้เจริญภาวนานั้นเป็นสำคัญ

. ปาทกฌานวาท   คือ ก่อนที่ฌานลาภีบุคคลจะเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น ได้เข้าฌานก่อน จะเป็นฌานชั้นใดก็แล้วแต่ ทั้งนี้เพื่อให้สมาธิมีกำลังดีขึ้น ฌานที่เข้าก่อนนี้เรียกว่า ปาทกฌาน เมื่อออกจากปาทกฌาน ก็พิจารณารูปนามต่อไปจนแจ้งไตรลักษณ์ และบรรลุถึงมัคคถึงผล ข้อที่สำคัญที่ปาทกฌาน ถ้าเข้าปฐมฌานเป็นปาทกฌาน มัคคจิตผลจิตที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ก็เรียกว่า ปฐมฌานโสดาปัตติมัคค ปฐมฌานโสดาปัตติผล สำเร็จเป็นปฐมฌานโสดาบันบุคคล

ถ้าเข้าทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือ ปัญจมฌาน เป็นปาทกฌาน มัคคจิตที่เกิดขึ้นเป็นปฐมมัคค ก็เรียกไปตามขั้นของฌาน เช่น ทุติยฌานโสดาปัตติมัคค ตติยฌานโสดาปัตติมัคค เป็นต้น ทำนองเดียวกับปฐมฌานโสดาปัตติมัคคจิตนั้น

แม้มัคคจิตผลจิตเบื้องสูง คือ สกทาคามิมัคค-ผล อนาคามิมัคค-ผล อรหัตตมัคค-ผล ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับปฐมมัคคจิตดังกล่าวแล้วนี้แหละ

ข้อสำคัญถือฌานที่เป็นปาทกฌานนั้นเป็นใหญ่ เมื่อออกจากปาทกฌานแล้ว จะพิจารณาองค์ฌานโดยความจริง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็ได้ หรือจะพิจารณาสังขารธรรม รูปนามที่นอกจากองค์ฌาน โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้ เพราะถือฌานที่เป็นบาทเบื้องต้นนั้นเป็นใหญ่เป็นสำคัญ

. สัมมสิตฌานวาท คือ ฌานลาภีบุคคลผู้เจริญวิปัสสนาภาวนานั้น พิจารณาฌานที่ตนเคยได้มาแล้ว จะเป็นฌานชั้นใดก็ตาม พิจารณาฌานนั้น โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะเข้าฌานก่อนก็ได้ หรือจะไม่เข้าฌานก่อนก็ได้ ไม่ถือการเข้าฌานเป็นสำคัญ แต่ถือการพิจารณาฌานนั้นเป็นใหญ่ เช่น เข้าปัญจมฌาน ครั้นเวลาที่พิจารณาโดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น มาพิจารณาปฐมฌาน มัคคจิตที่เกิดขึ้นก็เป็นปฐมฌานมัคคจิต หาใช่ปัญจมฌานมัคคจิตไม่ โดยทำนองเดียวกัน เวลาเข้านั้น เข้าทุติยฌาน แต่เวลาพิจารณากลับไปพิจารณาจตุตถฌาน มัคคจิตที่เกิดขึ้นก็เป็น จตุตถฌานมัคคจิต

. บุคคลัชฌาสยวาท   มุ่งหมายถึง ความปรารภ ความประสงค์ ความปรารถนา ของฌานลาภีบุคคลผู้เจริญวิปัสสนาภาวนานั้นเป็นใหญ่เป็นสำคัญ เช่น ปรารภตติยฌานมัคคจิค ก็จะต้องเจริญภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ อย่างนี้ คือ

. ต้องเข้าตติยฌาน ซึ่งเป็นชั้นที่ตรงตามความประสงค์ของตน เมื่อออกจากตติยฌานแล้ว จะพิจารณารูปนามที่เป็นกามธรรม โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้

. จะไม่เข้า ตติยฌาน ก็ได้ แต่ต้องพิจารณาองค์ฌานของตติยฌาน โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงจะตรงกับชั้นที่ตนปรารถนา

พิจารณาไปจนมัคคจิตเกิด มัคคจิตนั้นก็เป็น ตติยฌานมัคคจิต

. คัมภีรวิสุทธิมัคค ได้กล่าวถึงเรื่อง อริยมัคค ประกอบด้วยกำลัง ๒ ประการไว้ว่า

ที่นี้จะจำแนกในพละสมาโยคะ คือ พระอริยมัคค อันประกอบด้วยกำลัง ๒ ประการ จึงออกจาก นิมิต และปวัตติได้

กำลัง ๒ ประการนั้น คือ พระสมถพละ ๑ และพระวิปัสสนาพละ ๑ สมถพละนั้นคือ สมาธิ วิปัสสนาพละนั้นคือ ปัญญา

ขณะเมื่อพระโลกุตตรมัคคญาณบังเกิดนั้น พระสมถะกับพระวิปัสสนา มีกำลังเสมอกัน จะยิ่งหย่อนกว่ากันอย่างโลกียภาวนา หาบมิได้

แท้จริงกาลเมื่อพระโยคาวจรเจ้า จำเริญโลกียสมาบัติทั้ง ๘ นั้น ยิ่งด้วยกำลังพระสมถะ กาลเมื่อพิจารณาสังขารธรรมด้วยอนิจจานุปัสสนา เป็นอาทินั้น ยิ่งด้วยกำลังพระวิปัสสนา ครั้นถึงขณะเมื่อพระอริยมัคคญาณบังเกิดนั้น กำลัง ๒ ประการ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นเอกรสะ มีกิจเสมอกัน เหตุสภาวบมิได้ล่วงซึ่งกัน เหตุดังนั้น อันว่ากิริยาอันประกอบด้วย พละทั้ง ๒ ประการ ก็มีในพระอริยมัคคญาณทั้ง ๔ ด้วยประการฉะนี้

๑๐. ขอย้อนกลับมากล่าวถึงสุกขวิปัสสกบุคคล ผู้มีวิปัสสนาญาณอันแห้งแล้งจากโลกียฌาน เป็นผู้ที่ไม่เคยได้เจริญสมถภาวนาจนบรรลุถึงฌานธรรมเลย บุคคลจำพวกนี้เวลาเจริญวิปัสสนาภาวนา จึงไม่สามารถกำหนดเพ่งฌานได้ ได้แต่กำหนดเพ่งรูปนามที่เป็นกามธรรมเพียงอย่างเดียว ถึงกระนั้นเมื่อมัคคจิตเกิดขึ้น ก็ย่อม บริบูรณ์ และพร้อมมูล ด้วยองค์ฌานทั้ง ๕ เหตุนี้จึงจัดว่าเป็น ปฐมฌานโสดาปัตติมัคคจิตเสมอไป

สกทาคามิมัคค อนาคามิมัคค อรหัตตมัคค ของสุกขวิปัสสกบุคคล ก็จัดเข้าเป็นปฐมฌานด้วยกันทั้งสิ้น

ดังมีหลักฐานใน อัฏฐสาลินีอรรถกถา แสดงไว้ว่า

วิปสฺสนานิยาเมน สุกฺขวิปสฺสกสฺส อุปฺปนฺนมคฺโคปิ ปฐมชฺฌานิโก โหติ ฯ

ตามธรรมเนียมของวิปัสสนา มีหลักอยู่ว่า มัคคที่เกิดขึ้นแก่ผู้ที่เจริญวิปัสสนาภาวนาล้วน ๆ ก็ย่อมประกอบด้วยปฐมฌาน

๑๑. พระอริยที่เป็นสุกขวิปัสสกบุคคล เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปัญญาวิมุตติ นั้นมีจำนวนมากกว่า พระอริยที่เป็นฌานลาภีบุคคล เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เจโตวิมุตติ นั้นมากมาย ดังใน สังยุตตพระบาลี แสดงไว้ว่า

อิเมสํ หิ สารีปุตฺต ปญฺจนฺนํ ภิกฺขุสตานํ สฎฺฐิ ภิกฺขู เตวิชฺชา สฏฺฐิ ภิกขู ฉฬาภิญฺญา สฏฺฐิ ภิกฺขู อุภโตภาควิมุตฺตา อถ อิตเร ปญฺญาวิมุตฺตา

ดูกร สารีบุตร ในพระภิกษุ ๕๐๐ องค์, ๖๐ องค์ เป็นเตวิชชบุคคล, ๖๐ องค์เป็นฉฬาภิญญาบุคคล, ๖๐ องค์เป็นอุภโตภาควิมุตติบุคคล เหลือนอกนั้นทั้งหมดเป็นปัญญาวิมุตติบุคคล

ดังนั้นจึงได้กล่าวว่า ผู้ที่ก้าวขึ้นสู่มัคคผลเพราะเห็นอนิจจัง และเพราะเห็นอนัตตามีมากกว่าผู้ที่เห็นทุกขัง เพราะผู้ที่เห็นทุกขังเป็นผู้ที่บุพพาธิการแต่ปางก่อนยิ่งด้วยสมาธิ

เตวิชชบุคคล หมายถึง พระอรหันต์ผู้มีวิชา ๓ คือ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพพจักขุญาณ และ อาสวักขยญาณ

ฉฬาภิญญาบุคคล หมายถึง พระอรหันต์ ผู้มีอภิญญา หรือ วิชา ๖ คือ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพพจักขุญาณ อาสวักขยญาณ เจโตปริยญาณ ทิพพโสตญาณ และอิทธิวิธญาณ

อุภโตภาควิมุตติบุคคล หมายถึง พระอรหันต์ ผู้เป็นฌานลาภีบุคคลด้วย คือ มีฌานด้วย บ้างก็เรียกว่า เจโตวิมุตติบุคคล

ปัญญาวิมุตติบุคคล หมายถึง สุกขวิปัสสกพระอรหันต์ คือ พระอรหันต์ผู้แห้งแล้งจากฌาน ผู้ไม่ได้ฌาน


จัดทำโดย มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
ศีล สมาธิ ปัญญา... หนทางสายเอก...