ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค

หน้าที่ : 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50
51 52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64 65 66 67 68 69 70 71 72 73 74
75
76 77 78 79 80 81 82 83 84 85 86 87 88 89 90 91 92 93 94
95 96 97 98 99 100
101 102 103 104
105 106 107 108 109 110 111 112 113 114 115
116 117
118 119 120 121 122 123 124 125 126 ค้นหาหัวข้อธรรม

ละความชั่วทั้งปวง ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ใสบริสุทธิ์...

สังขารุเบกขาญาณ

สังขารุเบกขาญาณ เป็นญาณที่ ๑๑ แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ ๘ แห่งวิปัสสนาญาณ ๙ และอยู่ในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งเป็นวิสุทธิมัคคลำดับที่ ๖ แห่งวิสุทธิ ๗

สังขารุเบกขาญาณ เป็นความวางเฉยต่อสังขาร โดยประจักษ์แจ้งความเกิดดับของรูปนามในขณะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมหากุสลญาณสัมปยุตตจิต หาใช่ อุเบกขาเวทนาเจตสิก ไม่ สังขารุเบกขาญาณนี้อาจเกิดพร้อมกับเวทนาที่เป็นโสมนัสก็ได้ หรือเกิดพร้อมกับเวทนาที่เป็นอุเบกขาก็ได้

ที่ว่า ญาณนี้วางเฉยต่อสังขารรูปนามนั้น มีคำอธิบายเป็น ๒ นัย นัยหนึ่งนั้นว่า เพราะมีความปรารถนาที่จะหนีให้พ้นจากรูปนาม ไตร่ตรองมองหาอุบายที่จะให้พ้นจากรูปนาม ก็เกิดปัญญารู้เห็นขึ้นมาว่า รูปนามนี้เป็นวิบากที่เกิดมาจากเหตุจากปัจจัย ต่อเมื่อทำให้เหตุปัจจัยหมดสิ้นไปเสียก่อน รูปนามอันเป็นวิบากจึงจะไม่เกิดขึ้น แต่ว่า ณ บัดนี้มีรูปนามอยู่แล้ว จะเบื่อหน่ายอยากหนีสักเพียงไรก็ยังหนีไม่พ้นจำต้องวางเฉย อย่างที่เรียกว่า หวานอมขมกลืน ไม่ยินดียินร้าย คือ ไม่มีอภิชฌาและโทมนัสในสังขารรูปนาม แต่ก็ไม่ละเลยในการพยายามต่อการเพ่ง ความเกิดดับของรูปนาม ซึ่งมาถึงตอนนี้ ไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏชัดมาก

อีกนัยหนึ่ง ก็มีเนื้อความทำนองเดียวกัน ต่างกันที่โวหารเท่านั้น คือกล่าวว่า ปัญญาที่ได้พิจารณาเห็นความจริงมาแล้วแต่ในญาณต้น ๆ นั้น มีกำลังแก่กล้าขึ้น เห็นความไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสาร ว่างเปล่าจากตัวตน โดยอาการ ๑๒ คือ

. เห็นเบ็ญจขันธ์นี้มิใช่สัตว์                      . มิใช่บุคคล                      . มิใช่ชีวะ

. มิใช่อัตตะ                                  . ไม่มีตัวตน                      . ไม่ใช่เรา      

. มิใช่ของเรา                                 . มิใช่ของผู้อื่น                   . มิใช่หญิง

๑๐. มิใช่ชาย                                   ๑๑. มิใช่สิ่งที่ยั่งยืน                

๑๒. มิใช่สิ่งที่ควรชื่นชมยินดี 

เหตุนี้จึงวางเฉยต่อรูปนาม

รวมความว่า เมื่อประจักษ์เห็นปานนี้ จึงไม่มีความยินดียินร้าย ต่อสังขารรูปนาม ตลอดจนคาหธรรม คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ซึ่งตามนัยแห่ง อนัตตลักขณสูตร แสดงว่า

เอตํ มม                  นั่นเป็นของเรา ด้วยอำนาจแห่ง ตัณหา

เอโส หมสฺมิ           นั้นเป็นของเรา ด้วยอำนาจแห่งมานะ

เอโส เม อตฺตา      นั้นเป็นตัวเป็นตนของเรา ด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ ซึ่งอาศัยเกิดขึ้นตามทวารทั้ง ๖ อารมณ์ทั้ง ๖ และวิญญาณทั้ง ๖ เหล่านี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะด้วยอำนาจแห่งปัญญาที่ทำให้เกิดรู้แจ้งขึ้นมาว่า

เนตํ มม                 นี่ไม่ใช่ของเรา

เนโส หมสฺมิ          นี่ไม่ใช่เรา

นเอโส เม อตฺตา    นี่ไม่ใช่ตัวตนของเรา

ดังนี้ กิเลสจึงไม่มีกำลังพอที่จะเหนี่ยวรั้งจิตใจให้กลับมาชื่นชมยินดีในสังขารรูปนาม อันจะต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏนี้อีก มีใจดิ่งไปสู่นิพพานที่สงบสงัดปราศจากนิมิตทั้งหลาย

สังขารุเบกขาญาณ ปัญญาที่วางเฉยต่อสังขารนี้ สามารถละ อนุเปกขณะ การยึดถือโดยไม่วางเฉยเสียได้

อนึ่ง มุญจิตุกมยตาญาณ ปัญญาที่ใคร่หนีจากรูปนาม ปฏิสังขาญาณ ปัญญาที่ไตร่ตรองมองหาอุบายหนีจากรูปนาม และสังขารุเบกขาญาณ ปัญญาที่วางเฉยต่อรูปนาม รวม ๓ ญาณนี้ พยัญชนะต่างกันจริง แต่ว่า อรรถเหมือนกัน คือ จะหนีจากรูปนาม ดังมีบาลีว่า

ยาจ มุญฺจิตุกมฺยตา ยาจ ปฏิสงฺขานุปสฺสนา ยาจ สงฺขารุเปกฺขา อิเม ธมฺมา เอกตฺถา พยญฺชนเมวนานํ

มุญจิตุกมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ และสังขารุเบกขาญาณ ทั้ง ๓ ญาณนี้ มีอรรถเดียวกัน แต่ชื่อพยัญชนะนั้นต่างกัน


จัดทำโดย มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
ศีล สมาธิ ปัญญา... หนทางสายเอก...