ปริจเฉทที่ ๘ ปัจจยสังคหวิภาค

หน้าที่ : 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50
51 52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64 65 66 67 68 69 70 71 72 73 74
75
76 77 78 79 80 81 82 83 84 85 86 87 88 89 90 91 92 93 94
95 96 ค้นหาหัวข้อธรรม

ละความชั่วทั้งปวง ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ใสบริสุทธิ์...

องค์ที่ ๕ สฬายตนะ

สฬายตนะ เป็นปัจจัยแก่ผัสสะ คือ ผัสสะ จะปรากฏขึ้นได้ก็เพราะมี สฬายตนะเป็นปัจจัย ลักขณาทิจตุกะของสฬายตนะ มีดังนี้

อายตน ลกฺขณํ                       มีการกระทบ หรือมีการทำให้วัฏฏสงสาร ยืนยาวไม่มีที่สิ้นสุด เป็นลักษณะ

ทสฺสน รสํ                               มีการยึดอารมณ์ของตน ๆ เป็นกิจ

(วา) ทสฺสนาทิ รสํ                  (หรือ) มีการเห็นเป็นต้น เป็นกิจ

วตฺถุตฺตรภาว ปจฺจุปฏฺฐานํ        มีความเป็นวัตถุเป็นทวารของวิญญาณธาตุ ๗ ตามควรแก่อารมณ์ เป็นผล

นามรูป ปทฏฺฐานํ                    มีเจตสิกและกัมมชรูป เป็นเหตุใกล้

ในบทก่อน อัชฌัตติกายตนะ ๖ คือ อายตนะภายใน ๖ ที่เป็นปัจจยุบบันน ธรรมของนามรูปนั้น ได้แก่ จักขวายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ และมนายตนะ

ในบทนี้ สฬายตนะที่เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ก็ได้แก่ อัชฌัตติกายตนะ ๖ ที่กล่าวแล้วนี่เอง

ผัสสะ ที่เป็นปัจจยุบบันนธรรมของสฬายตนะ ก็คือ ผัสสะ ๖ อันได้แก่

  จักขุสัมผัสสะ      จะปรากฏเกิดขึ้นได้ เพราะมี  จักขวายตนะ                       เป็นปัจจัย

. โสตสัมผัสสะ        จะปรากฏเกิดขึ้นได้ เพราะมี  โสตายตนะ                         เป็นปัจจัย

  ฆานสัมผัสสะ      จะปรากฏเกิดขึ้นได้ เพราะมี  ฆานายตนะ                        เป็นปัจจัย

  ชิวหาสัมผัสสะ     จะปรากฏเกิดขึ้นได้ เพราะมี  ชิวหายตนะ                        เป็นปัจจัย

. กายสัมผัสสะ         จะปรากฏเกิดขึ้นได้ เพราะมี  กายายตนะ                         เป็นปัจจัย

   มโนสัมผัสสะ      จะปรากฏเกิดขึ้นได้ เพราะมี  มนายตนะ                          เป็นปัจจัย

ผัสสะทั้ง ๖ ในที่นี้ ได้แก่ ผัสสเจตสิกที่ในโลกียวิปากวิญญาณ ๓๒ เท่านั้น แต่หมายเลข ๑ ถึง ๕ เป็นผัสสะในทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ตามลำดับ ส่วนหมายเลข ๖ มโนสัมผัสสะ ได้แก่ ผัสสะในโลกียวิปากวิญญาณ ๒๒ ที่เหลือ

ธรรมชาติที่กระทบอารมณ์นั่นแหละ คือ ผัสสะ แต่ไม่ได้หมายความเพียงว่า ของสองสิ่งกระทบกันเท่านั้น หากหมายถึงว่า ต้องมีธรรม ๓ ประการมาประชุม ร่วมพร้อมกันจึงจะเรียกว่าผัสสะ ธรรม ๓ ประการคืออารมณ์ ๑ วัตถุ ๑ ธรรม ๒ ประการนี้กระทบกันและทำให้เกิด วิญญาณ อีก ๑ ด้วย ไม่ใช่ว่ากระทบกันเฉย ๆ ดังมีบาลีในนิทานวัคค สังยุตตพระบาลีว่า

จกฺขุญฺจ         ปฏิจฺจ รูเป                     จอุปฺปชฺชติ จกฺขุวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส

โสตญฺจ         ปฏิจฺจ สทฺเท                   จอุปฺปชฺชติ โสตวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส

ฆานญฺจ         ปฏิจฺจ คนฺเธ                    จอุปฺปชฺชติ ฆานวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส

ชิวฺหญฺจ         ปฏิจฺจ รเส                     จอุปฺปชฺชติ ชิวฺหาวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส

กายญฺจ         ปฏิจฺจ โผฏฺฐพฺเพ               จอุปฺปชฺชติ กายวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส

มนญฺจ          ปฏิจฺจ ธมฺเม                    จอุปฺปชฺชติ มโนวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส

ซึ่งแปลความว่า

จักขุวิญญาณย่อมปรากฏขึ้นได้เพราะอาศัย จักขุปสาท กระทบกับรูปารมณ์ การประชุมร่วมพร้อมกันระหว่าง จักขุปสาท รูปารมณ์ และจักขุวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้แหละชื่อว่า ผัสสะ

ฯลฯ                                             ฯลฯ

มโนวิญญาณย่อมปรากฏขึ้นได้เพราะอาศัยภวังคจิตกระทบกับธัมมารมณ์ การ ประชุมร่วมพร้อมกันระหว่าง ภวังคจิต ธัมมารมณ์ และมโนวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้ แหละชื่อว่า ผัสสะ

สฬายตนะ เป็นปัจจัยแก่ผัสสะนี้ เมื่อกล่าวโดยภูมิคือ กามภูมิ รูปภูมิ และ อรูปภูมิแล้วได้ดังนี้

ในกามภูมิ ๑๑ มีอัชฌัตติกายตนะได้ครบทั้ง ๖ ผัสสะก็ย่อมเกิดได้ครบทั้ง ๖ เหมือนกัน

ในรูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑) มีอัชฌัตติกายตนะเพียง ๓ คือ จักขวายตนะ โสตายตนะ และมนายตนะ เท่านี้ จึงได้ผัสสะเพียง ๓ เท่ากันคือ   จักขุสัมผัสสะ โสตสัมผัสสะ และมโนสัมผัสสะ

ในรูปภูมิอีก ๑ คือ อสัญญสัตตภูมิ ไม่มีอัชฌัตติกายตนะแม้แต่สักอย่างเดียว ดังนั้น ผัสสะทั้ง ๖ จึงไม่เกิดมีในรูปภูมินี้เลย

ในอรูปภูมิ ๔ มี อัชฌัตติกายตนะ เพียง ๑ คือ มนายตนะ จึงมีผัสสะเพียง ๑ คือ มโนสัมผัสสะ เท่ากัน

สอบถาม ปัญหาธรรมะ ได้ที่ลานธรรมมูลนิธิ ค่ะ...
จัดทำโดย มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
ศีล สมาธิ ปัญญา... หนทางสายเอก...