สติปัฎฐาน ๔
Home || เกริ่นนำ เรื่องสติ || อิริยาบถบรรพ || อายตนบรรพ ||  อานาปานบรรพ ||
|| สัมปชัญญบรรพ || เวทนานุปัสสนา  || ปฏิกูลมนสิการบรรพ || นวสีวถิกาบรรพ ||
|| ทุกขอริยสัจ || ทุกขสมุทัยอริยสัจ2 ||  ทุกขนิโรธอริยสัจ || ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ||
|| ขันธบรรพ || กถาว่าด้วยอุทเทสวาร ||
อานิสงส์การเจริญสติปัฏฐาน ๔ || ถาม - ตอบวิปัสสนา ||

เกริ่นนำ เรียกสติคืนมา


ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ล้วนมีเหตุเป็นแดนเกิด ไม่มีใครที่เกิดมาเองโดยไม่มีเหตุ  เพราะธรรมทั้งหลายในโลกนี้ล้วนมีเหตุเป็นแดนเกิดทั้งสิ้น และเมื่อมีเหตุแล้วก็ย่อมต้องมีผล เช่น เรามีเหตุคือมีปากกาในมือแล้วตั้งใจที่จะเคาะลงบนกระดาน พอเคาะลงไปมันก็มีผลคือเกิดเสียงดังขึ้นมา ซึ่งเสียงนี้จะเกิดขึ้นมาเองโดยไม่มีการเคาะไม่ได้
 
ชีวิตของเราก็เหมือนกัน เรามีเหตุเป็นแดนเกิดแล้วเหตุที่เราทำมานั้นเมื่อแยกเป็นประเภทใหญ่ๆ แล้วก็มีอยู่ ๒ เหตุ คือ เหตุดีกับเหตุชั่ว แต่ที่นั่งอยู่ตรงนี้ทุกคนได้เหตุดีมาจากอดีตชาติ คือได้กุศลเหตุจึงเกิดมาเป็นมนุษย์ และเป็นมนุษย์ที่มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน วันนี้จึงได้ขอเวลามาพูดเป็นพิเศาประมาณหนึ่งชั่วโมง เพราะได้ทราบว่า สัปดาห์หน้าห้องเรียนนี้จะหยุดทำการสอนเนื่องจากเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนไปเปิดโลกทรรศน์ของตนเอง คือไปเปิดโลกแห่งความเป็นจริง

 
เพราะเราเรียนมาแล้วตั้งแต่เรื่องของจิตประเภทต่างๆ ที่แต่ละคนมี ทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนี้มีใจที่เป็นบาปคือจิตอกุศล ความโกรธง่าย หงุดหงิดง่าย ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ เมื่อหยิบใจของทุกคนออกมาแล้วก็จะเหมือนกันหมด คือมีชนิดที่เป็นโลภะ ๘ ดวง โทสะ ๒ ดวง โมหะ ๒ ดวง นี่ก็คือเรื่องของกิเลสซึ่งมีอยู่ทุกคนตรงนี้ แต่มีปริมาณมากน้อยต่างกันเท่านั้นเอง

 
และที่นั่งอยู่ที่นี่ทุกคนก็ไม่ได้มีบาปเพียงอย่างเดียว เพราะเราก็พร้อมที่จะทำความเห็นถูกอันเป็นใจที่เป็นบุญเป็นกุศล ก็คือมหากุศลญาณสัมปยุต ๔ ดวง และมหากุศลญาณวิปปยุตอีก ๔ ดวง เพราะตั้งแต่เกิดมาคงไม่มีใครที่ไม่บริจาคทาน อย่างน้อยก็ต้องเคยโยนเศษสตางค์ให้ขอทานเพื่อตัดความรำคาญ หรือเห็นซองผ้าป่ามาก็ใส่ซองให้อย่างเสียไม่ได้ ใส่ไปตามหน้าที่ อย่างนี้กุศลก็เกิดแล้วแต่เป็นกุศลชนิดที่ไม่มีปัญญาเข้าประกอบนั่นเอง นี่ก็คือส่วนของใจ

 
ที่นั่งอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นลักษณะของรูป ตามเครื่องหมายรูปปรมัตถ์ที่ปรากฏบนกระดานรวม ๒๘ รูป ซึ่งเป็นส่วนของกาย และกายกับใจจะทำงานต่างๆ ได้ก็ต้องมีตัวบงการ ก็คือ เจตสิก ที่มีเครื่องหมายปรากฏบนกระดานถึง ๕๒ ดวง

 
ฉะนั้น จิต เจตสิก และรูป ก็คือ กายและใจของเรา ซึ่งทำให้เราเป็นไปในวัฏฏะสงสาร ก็คือมีการทำวัฏฏะกรรม คำว่า วัฏฏะ แปลว่า หมุน คำว่าสงสารหรือสังสาระก็คือความทุกข์ รวมความแล้วก็คือ ความทุกข์ที่หมุนเวียน
 
TOP
 

เรามีความทุกข์หมุนเวียนอยู่ตั้งแต่เช้าลืมตาไปจนถึงหลับตา ที่เราเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส ได้นึกคิดไปในเรื่องสารพัดนั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ทำให้เราต้องตัดสินด้วย ความพอใจกับความไม่พอใจ

 
เราต้องสู้กับอากาศร้อน ต้องสู้กับความเย็น สู้กับเรื่องราว สู้กับอารมณ์ของเรา เช่นการเลือกตั้งที่เราก็เชียร์พรรคที่เราชอบกันอยู่ตลอดเวลา คำว่า "เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ " นั้นก็คือความพอใจของแต่ละคน และเมื่อมีฝักฝ่ายให้เลือกก็ต้องมีฝ่ายที่ผิดหวังกับฝ่ายที่สมหวังเป็นธรรมดา

 
คนที่สมหวังก็มีโลภะเกิดขึ้น คือความยินดี คนที่ผิดหวังก็มีโทสะเกิดขึ้น คือไม่ยินดี จึงมีเรื่องของกิเลสอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา หรือเมื่อเราทำงานแล้วสิ้นปีนี้ได้ขึ้นเงินเดือนเปอร์เซนต์เดียว เราก็ไม่พอใจ แต่ถ้าหากเงินเดือนขึ้นมากเราก็พอใจ หรือถ้าได้มากกว่านี้ก็ดี ซึ่งจะเห็นได้ว่า โลภะนั้นไม่มีที่สิ้นสุด

 
ชีวิตจึงเป็นวัฏฏะอย่างนี้คือความหมุนเวียนไปในกิเลส และเมื่อเรียนแล้วก็จะทราบกันดีว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับการศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องของชีวิต กว่าจะรู้ว่าชีวิตนั้นประกอบไปด้วยอะไร? เกิดมาได้อย่างไร? ทำไมจึงต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้? เพราะเมื่อทำกุศลย่อมมีผลเป็นกุศลวิบาก เมื่อทำอกุศลผลก็คืออกุศลวิบาก เราจึงได้รู้ว่าเป็นสิ่งที่เราทำมาเอง ใครทำ ใครได้ และทำมากได้มาทั้งดีทั้งชั่ว ..นี่คือ สโลแกนของที่นี่

 
ใครทำ ใครได้ เราไม่ทำ เราก็ไม่ได้ เมื่อใครทำมากก็ได้มาก ฉะนั้น ถ้าหากเราไม่ได้ศึกษา เราก็จะคิดว่ามีการดลบันดาล หรือมีใครให้ใครเกิดได้ ซึ่งไม่มีพ่อแม่คู่ใดจะทำให้ใครเกิดได้ แต่คนที่เกิดมานั้นมีเหตุที่ทำให้ต้องเกิดเอง คือวัฏฏะยังไม่ถูกบั่นทอนนั่นเอง
 
TOP

 

 
ทำไมเราถึงต้องเกิด?
 
เพราะไม่รู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่เกิด

 
เรารู้แต่การเกิด เพราะเรายังอยากเห็น อยากได้ยิน อยากได้กลิ่น อยากลิ้มรส อยากสัมผัส อยากมีความสบาย ความอยากเหล่านี้ก็คือ ความปรารถนาในอารมณ์ ซึ่งเป็นความปรารถนาในการเกิดทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เพราะความปรารถนาเหล่านี้เป็นตัวการไปสร้างกรรมและสร้างให้มีรูปที่เกิดจากกรรมเป็นร่างกายขึ้นมาในภพชาติใหม่

 
เราได้รียนกันมาจนถึงปริจเฉทที่ ๙ และใกล้จะเรียนจบแล้ว ซึ่งกำลังจะไปเข้าปฏิบัติกันนั้น ข้อสำคัญก็อยู่ที่ว่า "เราจะไปปฏิบัติทำไม?" เราต้องรู้และเข้าใจว่าปฏิบัติทำไม ไม่ใช่ว่ารู้เพราะฟังเขามา เพราะพระพุทธองค์สั่งเหลือเกินว่า "อย่าเชื่อโดยฟังตามกันมา " เช่น ไปดูรูปนะ ไปดูนามนะ แต่ต้องทำด้วยความมีเหตุผล

 
"อย่าเชื่อโดยอ้างตำรา" เพราะตำรามีผิดเพี้ยน " อย่าเชื่อโดยตรึกตามอาการ" เพราะบางทีเห็นคนนั่งยิ้มอยู่ก็คิดว่าเขามีความสุข หรือเห็นคนนั่งหน้าเฉยๆ จะไปบอกว่าเขามีความทุกข์ได้ไหม? ไม่ได้ เพราะเขาอาจเกิดด้วยอุเบกขาจึงไม่ค่อยยิ้ม อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้น เราจึงเดาอะไรไม่ได้เลย ซึ่งพระพุทธองค์ทรงสอนให้ "อย่าเชื่อ" ถึง ๘ อย่าง แต่เมื่อใดจะเชื่อต้องเชื่ออย่างมีเหตุผล เพราะธรรมทั้งหลายไหลมาแต่เหตุ

 
วันนี้คงจะไม่เข้าไปในเรื่องปริยัตินักแต่จะมาพูดให้ฟังว่า เราจะปฏิบัติอย่างไร? ปฏิบัติไปเพื่ออะไร? และจะเปิดโอกาสให้ซักถามอารมณ์กันในตอนท้าย ซึ่งจะขอกล่าวว่า วัฏฏะสงสารนี้เป็นของทุกคน เพราะทุกคนมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย

 
ทุกวันนี้เรามีอายุมากขึ้น และสบายมากกว่าตอนเป็นเด็ก โดยเฉพาะเวลาใกล้สอบที่ต้องเจอวิชาที่ยากๆ เช่นวิชาคณิตศาสตร์ บางคนก็เลยมีอาการมือเย็นเฉียบ บางคนก็ปวดปัสสาวะปวดอุจจาระ กว่าเราจะผ่านชั้นเรียนต่างๆ มาได้ก็มีความลำบากมาก แล้วจึงได้มาทำงาน

 
ความลำบากเป็นสิบกว่าปีนั้นเราได้พบมา และก็ลืมไปแล้ว เพราะเราเสวยอารมณ์ปัจจุบันในสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ ความรู้สึกที่มีอยู่เป็นอยู่นี้ก็คือ ภวตัณหา ที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของเรา เมื่อสิ่งนี้มีอยู่ ความข้องในอารมณ์ความปรารถนาในอารมณ์ก็ทำให้วัฏฏะของเราหมุนรอบอยู่นั่นเอง
 
TOP
 
กิเลสวัฏฏ์ - กรรมวัฏฏ์ - วิบากวัฏฏ์ คือ วงกลมของวัฏฏะ (ท่านอาจารย์ได้วาดวงกลมขึ้นหนึ่งวงบนกระดาน) ถ้าเราให้เด็กมาดูวงกลมนี้แล้วถามว่าจุดเริ่มต้นอยู่ตรงไหน? จุดจบอยู่ตรงไหน? เด็กก็จะตอบไม่ได้ เช่นเดียวกับพวกเราที่มาจากไหนก็ไม่รู้ แล้วกำลังเดินทางไปไหนก็ไม่รู้

 
เพราะในวงกลมนี้มีถนนชีวิตอยู่ ๖ สาย คือ เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นเปรต-อสุรกาย เกิดเป็นสัตว์นรก เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นพรหม-อรูปพรหม ซึ่งเป็นการเวียนว่ายตายเกิดที่หาที่สิ้นสุดไม่ได้ และเมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ไม่มีใครเป็นอมตะไม่ว่าสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ และเมื่อตายแล้วก็ต้องเกิดโดยเวียนว่ายอยู่ใน แหล่งกำเนิดทั้ง ๔ บนถนนชีวิต ๖ สายนี้แหละ

 
พระพุทธองค์ทรงมีพระสัพพัญญุตญาณเห็นการเวียนว่ายตายเกิดนั้นเป็นทุกข์ จึงเรียกว่า วัฏฏะทุกข์ หรือวัฏฏะภัย เพราะเกิดมาแล้วต้องเจริญเติบโต ความเจริญเติบโตนี้ก็คือการที่เซลล์ผิวนั้นเสื่อมไป จิตใจก็มีการทำงานไม่หยุดหย่อน ชีวิตจึงเป็นสิ่งที่น่าสงสารที่สุด พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "ทุกข์เสมอด้วยขันธ์นั้น ไม่มี"

 
ความทุกข์อื่นนั้นมีหยุดพัก แต่ทุกข์จากชีวิตไม่มีหยุดพัก ยกตัวอย่างเช่น การกิน เรากินกันวันละกี่มื้อ ทั้งดื่มน้ำด้วย แต่ไม่ว่าจะกินลงไปกี่มื้อแล้วจะเลิกกินได้ไหม? ไม่ได้ เพราะเราหิว เราจึงมีความพร่องอยู่เป็นนิตย์ พอขับถ่ายแล้วก็ต้องเติมเข้าไปใหม่ แต่ชีวิตของเราเติมลงไปเท่าใดก็ไม่เต็ม เหมือนกับชะลอมที่ตักน้ำกี่ครั้งก็รั่วไหลออกไปจนหมด

 
ชีวิตของเราต้องบริหารมาก เราต้องเดิน ยืน นั่ง นอน เหยียด คู้ ก้ม เงย วันละครั้ง จะอยู่เฉยๆในท่าเดียวก็ไม่ได้เพราะเป็นเหน็บชาเป็นตะคริว แม้กระทั่งการนอนหลับก็ต้องหายใจเข้าและต้องหายใจออก จะหายใจเข้าหรือออกอย่างเดียวก็ไม่ได้ ....ตาย
 

TOP

 
ความตายจึงมีอยู่ง่ายๆ ตรงปลายจมูก คือ ลมหายใจ เพราะหยุดลมเมื่อใดก็ตายเมื่อนั้น และเมื่อตายแล้วก็ต้องเกิด เมื่อเกิดแล้วก็ต้องเริ่มต้นทุกข์อีกแล้ว ในวันนี้เราพูดเขียนได้คล่องแล้ว ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก ไม่ต้องไปเรียนอีกแล้ว แต่พอเริ่มต้นใหม่เกิดเป็นคนก็ต้องเริ่มต้นอีกจากเตาะแตะ ตั้งไข่ เนื้อหย่อนยานโตงเตง แล้วก็ต้องตาย

 
ต้องลองคิดดูให้ดีว่า พระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญบารมีเพราะทรงเห็นว่า ชีวิตของคนเรานี้เกิดมาเพื่อตายเท่านั้นหรือ? มีการลงทุนชีวิตตั้งมากมายเป็นสิบๆปีแล้วก็ต้องตายแล้วก็เริ่มต้นใหม่ ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ไปทุกภพทุกชาติไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนวงกลม วงกลมที่เกิดขึ้นมาเหล่านี้จึงเรียกว่า วัฏฏะ

 
วงกลมเหล่านี้หมุนให้ชีวิตเราเวียนว่ายตายเกิดได้ก็เพราะว่า เรามีกิเลสคือกิเลสวัฏฏ์ เมื่อเรามีกิเลสแล้วเราก็มีการทำกรรมคือกรรมวัฏฏ์ เมื่อทำกรรมแล้วก็มีวิบากคือวิปากวัฏฏ์ เมื่อมีวิบากแล้วเราก็ตอบโต้วิบากด้วยกิเลส จึงเป็นการหมุนของกิเลสที่ไม่สิ้นสุด

 
กิเลสหมุนเข้าออกตรงไหน? ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจนั่นเอง อย่างเราดูทีวีเช่นเรื่องจูมงที่เพิ่งจบลงไป เมื่อเราเห็น..กิเลสก็มาหมุนทางตา แล้วก็หมุนไปรู้สึกทางใจ พอได้ยิน..ก็หมุนไปทางหู แล้วก็หมุนไปหาใจ กิเลสก็จะหมุนอยู่อย่างนี้ ถ้าเปรียบเป็นแบบตัวอักษรที่มีไฟวิ่งก็จะเห็นชัดถึงการหมุนของกิเลส ที่กระพริบไปต่อๆ กันเกิดขึ้นแล้วก็ดับลงแล้วก็เกิดขึ้นใหม่ซึ่งมีความรวดเร็วมาก

 
ขณะที่จูมงกำลังฉายอยู่นี้ กิเลสก็มีการหมุนอยู่ตลอดเวลาทางตา ทางหู ทางใจ แต่ถ้าใครที่หูตึงก็เหลือแค่สองทวารคือตา กับใจ หรือถ้าใครตาบอดก็เหลือฟังได้ทางหู และรู้ทางใจ นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งที่จริงแล้วกิเลสหมุนไปตามทวารต่างๆ ตลอดเวลา จึงเป็นที่โคจรกิเลสคือ โลภะ โทสะ โมหะ รวมเรียกว่าอกุศล ๑๒ เป็นกองกิเลสที่อยู่ในชีวิตเราตลอดเวลา
 

TOP
 


 
 
 
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วพฤติกรรมชีวิตหรือการกระทำของเรานี้จึงจัดเป็นกรรม คือกุศลกรรม อกุศลกรรม....เรียกว่ากรรมวัฏฏ์

 
เมื่อมีกรรมเป็นเหตุก็ย่อมมีผลของกรรมเป็นที่รองรับ คือวิบาก ร่างกายและจิตใจของเราที่นั่งอยู่รงนี้เป็นวิบากขันธ์ ผู้ที่มีวิบากดี ชนกกรรมดี กุศลกรรมดีก็จะเกิดเป็นชายเป็นหญิงที่มีร่างกายสมบูรณ์อาการครบ ๓๒

 
การได้เห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ได้ลิ้มรสดี ได้สัมผัสที่ดี..เป็นวิบากดี การได้เห็นไม่ดี ได้ยินไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดี ได้ลิ้มรสไม่ดี ได้สัมผัสที่ไม่ดี..เป็นวิบากไม่ดี ทุกวันนี้ที่เราได้รับจึงเป็นเรื่องของวิบากทั้งสิ้น

 
แล้วเราไม่ได้ใช้แค่วิบาก เพราะเมื่ออะไรมากระทบเช่นเห็นผู้หญิงสวย เป็นวิบากที่ได้เห็นดีคือรูปารมณ์ที่ดี เราก็ ..โอ้โห ..สวยจังเราชอบ เพราะไม่ทันอารมณ์ กิเลสก็เกิดขึ้นเลยจากการเห็นรูปารมณ์ที่ดี ทำให้เรากระทำกรรมออกไปได้ วัฏฏะนี้จึงไม่มีที่สิ้นสุด
 
 
 
ในการที่ท่านจะไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานท่านทำเพื่ออะไร? ทำเพื่อทำลายอกุศลจิตเหล่านี้ให้หมดไปเพื่อจะได้เดินไปยังถนนสาย ๗ คือพระนิพพาน เราจะต้องไปทำลายกิเลสเท่านั้น แต่จะไปทำลายวิบากไม่ได้ เช่นการฆ่าตัวตายเพื่อให้หมดเรื่อง แต่มันไม่ได้จบแค่นั้นเพราะเมื่อฆ่าตัวตายแล้วก็ต้องเกิดแล้วก็เป็นบาปด้วย

 
หรือเราคิดจะหลบหลีกหนีวิบากไปไหนก็หนีไม่พ้น เพราะวิบากไม่มีหูไม่มีตา แต่กรรมมีหูมีตา กรรมจะรู้เลยว่าใครทำอะไรไว้ที่ไหนเมื่อไหร่ พร้อมที่จะส่งผลหรือยัง ถ้าพร้อมแล้วก็จะส่งผลให้ทันทีเลย แต่วิบากนั้นไม่มีหูมีตาว่าคนนี้กำลังทำดีอยู่อย่าเพิ่งมาเลย เช่นนั่งเรียนธรรมะอยู่จะปวดหัวก็ได้ปวดท้องก็ได้เป็นไข้ก็ได้เมื่อวิบากมาถึง วงจรวัฏฏะภัยนี้จึงน่ากลัว

 
ในการปฏิบัตินี้ความสำคัญจึงอยู่ที่ทำไปทำไม? เพื่อไม่ให้เข้าใจผิดว่าเป็นตัวเราตัวเขาเป็นสัตว์เป็นบุคคล โดยจะต้องมีความเข้าใจในการกำหนดว่า กำหนดรูปเดิน ยืน นั่ง นอน ไปทำไม? ก็เพื่อทำลายความเห็นผิด

 
เพราะเราหลงว่า เป็นเรา หลงว่า เราเดิน แท้ที่จริงไม่มีเราเป็นผู้เดิน สิ่งที่ตาของคนอื่นมองเห็นว่าเราเดินอยู่นี้ เขาเห็นรูปเคลื่อนไหวไป แต่มองไม่เห็น "เรา" ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจึงต้องเริ่มทำความเห็นถูกเสียตั้งแต่ตรงนี้

 
ทางตา ...ที่เราเห็น เราเห็นสี คือรูปารมณ์ เป็นคลื่นแสงที่สะท้อนมากระทบ โดยจะต้องมีเหตุใหญ่ๆ มาประชุมกัน ๔ อย่าง ...ท่านอาจารย์ได้หยิบหนังสือขึ้นมาแล้วถามนักศึกษาใหม่ว่า นี่สีอะไรคะ? สีเหลือง เห็นได้ด้วยอะไรคะ? ด้วยตา

 
นี่เป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุดสำหรับคนใหม่ แต่สำหรับผู้ที่เรียนแล้วจะไม่ตอบแบบนี้ เพราะ"ตา"เห็นไม่ได้ เพราะการเห็นนั้นจะต้องมีเหตุมาประชุมกันถึง ๔ เหตุ เราอยู่มาหลายสิบปีแล้วเราเพิ่งจะได้มาพิสูจน์ว่า การเห็นเกิดขึ้นได้อย่างไรก็ในวันนี้
 
 
 
การเห็นหนังสือสีเหลืองได้ก็เพราะจะต้องมี ๑. รูปารมณ์ คือหนังสือนี้ ๒. จักขุปสาท คือประสาทตาดี ๓. อาโลกะ คือต้องมีแสงสว่าง ๔. มนสิการ คือความตั้งใจดู หรือใส่ใจดู ถ้าหากขาดเหตุใดไปสักอย่างเดียว การเห็นก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ เช่นเอามือปิดตา จะเห็นได้ไหม? ไม่เห็น หรือเอาหนังสือมาซ่อนไว้ข้างหลังจะเห็นได้ไหม? ไม่เห็น เช่นเดียวกันกับการได้ยินได้กลิ่นก็เป็นเช่นนี้

 
และถ้าหากเรียนมากขึ้นก็จะทราบว่าการเห็นนี้จะต้องมีปัจจัยมาร่วมด้วยอีก ๗๓ ปัจจัย จึงไม่ใช่"เรา"เห็น ซึ่งผู้ที่เรียนแล้วก็จะผ่านทฤษฎีนี้ไป เมื่อรู้แล้วว่าเห็นเป็นอย่างนี้ว่าไม่ใช่ตาเห็น แต่จิตเป็ผู้เห็นจึงต้องไปกำหนดรู้ว่า นามเห็น

ทางตา.. คลื่นแสงเป็นรูป การเห็น..เป็นนาม
ทางหู..คลื่นเสียงเป็นรูป ได้ยิน..เป็นนาม
ทางจมูก..กลิ่นเป็นรูป รู้กลิ่น..เป็นนาม
ทางลิ้น..เปรี้ยว หวาน มันเค็ม เผ็ดจืด เป็นรูป รู้รส..เป็นนาม
ทางกาย..เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อย ตึงเป็นรูป รู้สึก..เป็นนาม
ทางใจ...ท่าทางต่างๆ ของการนั่ง การยืน การเดิน การนอน เป็นรูป ที่รู้ว่าเดินอยู่ นั่งอยู่ ยืนอยู่..เป็นนาม

 
ในโลกนี้จึงมีแต่รูปกับนามเท่านั้น ..อันนี้เป็นทฤษฎีที่เราจะต้องเข้าใจและแม่นยำตั้งแต่วันนี้ว่ากำหนดอย่างไร อะไรคือรูป อะไรคือนาม เป็นการฝังขุมทรัพย์ไว้ในใจก่อน 
 
ตรงนี้จึงเป็นนโบายที่บอกว่า อ้อมน้อยจะไม่รับผู้ปฏิบัติที่ไม่เข้าใจ เพราะไม่เข้าใจแล้วแต่ไปทำก็ได้แต่บุญที่ทำให้วัฏฏะเกิด เพราะการที่เราเรียนแล้วเข้าจึงเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เข้าไปพิจารณาเพื่อทำลายความเห็นผิดได้ แต่ถ้าหากไม่เรียนไปก็จะทำลายความเห็นผิดไม่ได้
 
เพราะจะเห็นอยู่แต่ว่าปกติ เรานั่ง เราเดิน เรายืน เรานอน แต่พอไปปฏิบัติก็จะได้ใช้ข้อมูลที่ถูกต้องนี้ไปเปลี่ยนใจให้คลายออกจากความโง่คือทำลายความเห็นผิดคือเป็นเราออกไป ก็จะกลายเป็นความเห็นถูก เห็นว่านั่นคือรูป เห็นว่านั่นคือนาม เท่านั้นเอง นี่คือเรื่องที่เรียนแล้วจะต้องไปทำความเข้าใจ
 

TOP

 


 
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ให้ไปกำหนดทุกข์

 
ก่อนอื่นต้องทราบว่า ความเห็นผิดแยกออกเป็น ๔ อย่างคือ สุภวิปลาส ..เห็นว่าชีวิตนั้นเป็นของดี สุขวิปลาส..เห็นว่าชีวิตนั้นเป็นของสุข นิจจวิปลาส..เห็นว่าชีวิตนั้นเป็นของเที่ยง อัตตวิปลาส ..เห็นว่าชีวิตนั้นเป็นตัวตน

 
ที่เราต้องกำหนดว่ารูปเดิน ยืน นั่ง นอน ก็เพื่อทำลายความเห็นผิดว่าเป็นเราและเป็นสุข เพราะ"เรา"ไม่มี และ"สุข"ไม่มี เพราะถ้าปฏิบัติไปเรื่อยๆ มีความชำนาญแล้วก็จะเข้าใจถึงอิริยาบถที่ปิดบังทุกข์

 
เช่น คนทั่วไปพอยืนนานๆ เมี่อย เมื่อยแล้วก็ไปนั่ง ...รู้สึกสบาย จะเห็นว่า มีสุขเกิดขึ้น แต่สำหรับผู้ที่มีสติสัมปชัญญะอบรมบ่มปัญญามามากแล้ว พอนั่งแล้วเขาก็จะสังเกตทันเลยว่า รูปนี้เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ ..แต่ทุกข์นั้นยังอ่อนอยู่ ยังไม่แก่จนปรากฏเป็นทุกขเวนา จึงดักความวิปลาสนั้นได้ทัน ในการกระทำจึงต้องใคร่ครวญโดยมีโยนิโสมนสิการให้มากโดยวางใจให้แยบคายและให้ถูกต้อง ..

 


ถาม - ตอบ วิปัสสนา

TOP :: HOME

 

 Web Link ธรรม
 84000 พระธรรมขันธ์ ทศชาติชาดก
 ประตูสู่ธรรม