สติปัฎฐาน ๔
Home || เกริ่นนำ เรื่องสติ || อิริยาบถบรรพ || อายตนบรรพ ||  อานาปานบรรพ ||
|| สัมปชัญญบรรพ || เวทนานุปัสสนา  || ปฏิกูลมนสิการบรรพ || นวสีวถิกาบรรพ ||
|| ทุกขอริยสัจ || ทุกขสมุทัยอริยสัจ2 ||  ทุกขนิโรธอริยสัจ || ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ||
|| ขันธบรรพ || กถาว่าด้วยอุทเทสวาร ||
อานิสงส์การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ||

 
 
ถาม - ตอบ วิปัสสนา
ถาม ในการทำวิปัสสนาที่บอกว่าเราจะต้องมีศีล สมาธิ และภาวนานั้น จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีศีลเป็นกำลังที่จะส่งให้เราปฏิบัติได้ถูกต้อง และศีลอะไรที่เรา(ฆราวาส)ควรจะต้องมี

 
ตอบ หนทางแห่งความพ้นทุกข์นั้นประกอบไปด้วยศีล สมาธิ และปัญญา สามองค์นี้ทำงานร่วมกันได้ แต่ถ้าตั้งคำถามว่า จำเป็นจะต้องอาศัยศีลเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานหรือไม่? ต้องตอบว่า จำเป็น เช่นศีล ๕

 
คนไม่มีศีลหรือไปทำผิดกฎหมายไปฆ่าคนมา เวลาปฏิบัติจิตใจจะสงบหรือไม่? ไม่สงบ ต้องคอยหวาดระแวง เช่น พอมีคนเดินมาสอบอารมณ์หรือเจ้าหน้าที่มาส่งปิ่นโต ก็สะดุ้งว่า ตำรวจมาหรือเปล่า ? ฉะนั้น ศีลจึงต้องมีเป็นพื้นฐานอย่างแน่นอน

 
สมาธิ.. ความตั้งมั่นของจิต เป็นความตั้งมั่นในงาน เช่น ให้กำหนดการเดิน ถ้าหากไม่มีความตั้งมั่นแล้วพอยกเท้าขึ้นมาอาจลืมจังหวะของการวางลงไปก็ได้ และก็อาจเตะถูกอะไรไป จึงต้องมีความตั้งมั่น และวิปัสสนาก็อาศัยสมาธินี้แต่อาศัยเพียงขณิกสมาธิเท่านั้น

 
ส่วนปัญญานั้นก็ต้องด้วยอย่างแน่นอน แต่ที่ตั้งคำถามมานั้นได้ถามเพียงแค่ศีล ก็ขอตอบว่า ควรจะมีศีล โดยเฉพาะศีล ๕ เป็นพื้นฐาน และเมื่อไปที่สำนักปฏิบัติอ้อมน้อยนั้น เขาก็จะให้อาราธนาศีลสำหรับการปฏิบัติโดยเฉพาะโดยเว้นจากการกระทำที่ไม่จำเป็น คืออาชีวปาริสุทธิศีล อินทรียสังวรศีลที่จะเกิดขึ้นได้ต่อไป

 
ศีล ๕ จึงเป็นพื้นฐานที่ควรจะมีประจำชีวิต ไม่ใช่มีเฉพาะแต่ตอนที่ปฏิบัติ เพราะการละเมิดศีล เช่นการฆ่าสัตว์นั้น ถ้าหากเราได้ฆ่าสัตว์ให้ตายลง เช่น ตบยุงตายภายในพริบตาใช้เวลาแค่นิดเดียวเท่านี้ แต่ทำให้เราต้องได้รับผลอันสาหัสในการเกิดหรือภายหลังการเกิดในชาติหน้าและชาติต่อๆ ไป ถึง ๙ ประการ คือ เป็นคนทุพพลภาพ รูปไม่งาม กำลังกายอ่อนแอ กำลังกายเฉื่อยชา กำลังปัญญาไม่ว่องไว เป็นคนขลาดหวาดกลัวง่าย ฆ่าตนเองหรือถูกฆ่า โรคภัยเบียดเบียน ความพินาศของบริวาร อายุสั้น

 
คุ้มหรือไม่ที่เราจะทำลงไป การที่ได้รับผลเช่นนี้ก็เพราะก่อนที่สัตว์จะตาย ร่างกายของเขาถูกตีจนบิดเบี้ยว อกุศลจึงสร้างกรรมชรูปอันเป็นวิบากให้บิดเบี้ยวไป หรือสัตว์ที่กำลังจะตายนั้นรูปงามหรือไม่? ไม่งาม เจตนาที่เราฆ่าเขาไปทำให้เขาพิกลพิการแล้วตายไปจึงทำให้เราได้รับผลนั้นตามเจตนา หรือขณะที่สัตว์กำลังจะตายนั้นกำลังกายก็ลดน้อยลง เราจึงได้ผลมาเป็นคนที่กำลังกายอ่อนแอ อย่างนี้เป็นต้น จึงควรมีชีวิตที่เป็นปกติคือมีศีลจึงจะดีที่สุด
 
TOP
 
 
ส่วนในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นถามว่ามีศีลหรือไม่? ตอบว่า มี

 
เช่น ในขณะกำหนดรูปนั่ง คือ ทำความรู้สึกตัวในอาการนั่ง ในขณะนั้นเป็นชีวิตที่ปลอดภัยและปลอดเวร คือปลอดภัยจากวัฏฏะ และปลอดเวรกรรมคือมีศีล เพราะในการกำหนดรูปนั่งนั้นไม่มีการฆ่า ไม่มีการลักทรัพย์ ไม่มีการประพฤติผิดในกาม ไม่มีการพูดปด ไม่มีการพูดปด ไม่มีการพูดส่อเสียด ไม่มีการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีพยาบาท ไม่มีอภิชฌา และไม่มีมิจฉาทิฏฐิ
 
ผู้ที่กำหนดรูปนั่งอยู่นั้นจึงเป็นผู้ที่มีศีล เพราะอกุศลกรรมบถ ๑๐ ไม่ได้เกิดขึ้นในขณะนั้นเลย
 
ผู้ที่กำหนดรูปนั่งอยู่นั้นต้องมีสมาธิหรือไม่? ตอบว่า มี คือ ขณิกสมาธิ
 
และที่กำหนดรู้ว่าเป็นรูป รู้ว่าที่นั่งนั้นไม่ใช่ "เรานั่ง" ก็คือ ปัญญา
 
ในขณะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจึงมีไตรสิกขาครบทั้งสามประการเลย คือ ศีล สมาธิ และปัญญา
 
 
 
ถาม เวลาที่ปฏิบัติกำหนดรูปนั่งอยู่นั้น สายตาที่มองไปแต่ไม่ได้จ้องมากแต่ก็เป็นเรื่องราวคือเห็นลายพรม เห็นลายเก้าอี้ตลอดเวลาเลย แม้ว่าเราไม่ได้ตั้งใจมองแต่มันปรากฏขึ้นมา จะกำหนดอย่างไรจึงจะถูกต้องคะ?

 
ตอบ การกำหนดใหม่ๆก็จะเป็นแบบนี้ เพราะฟันเฟืองในการทำงานของสติปัญญายังไม่เข้าล๊อค การกำหนดรู้จึงยังไม่ไหลลื่น จึงเป็นเรื่องที่ธรรมดามากสำหรับผู้ที่ปฏิบัติใหม่ เช่น เวลาที่กำหนดรูปเดินก็จะเห็นโน่นเห็นนี่เพราะเราเพิ่งเว้นจากงานทางโลกมาทำงานเดียวคืองานคอยสังเกต

 
เมื่อจิตมีงานคอยสังเกตปุ๊บ ความเป็น"นักปฏิบัติ" ก็จะเข้ามาทำหน้าที่ทันที คือ "ความช่างสังเกต"ซึ่งในข้อกำหนดนั้นท่านให้คอยระวังและคอยสังเกต คือคอยระวังอย่าให้เผลอไปจากนามรูป และต้องคอยสังเกตว่าในขณะนั้นมีรูปหรือมีนามเกิด

 
การคอยสังเกตนี้ ท่านให้คอยสังเกตว่ามีรูปหรือมีนามเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ความช่างสังเกตของผู้ปฏิบัติใหม่ๆ จะทำให้เห็นหมดในสิ่งเหล่านั้น ทั้งที่ชีวิตปกติก็ไม่ใช่คนที่ช่างสังเกตถี่ถ้วนขนาดนั้น เพราะเวลามาเรียนในห้องนี้ก็ไม่เคยเห็นว่า ผืนพรมมีรอยด่างจากน้ำกาแฟที่หกรด และก็เดินผ่านกันไปมา บางทีมีของตกอยู่เราก็ยังไม่เห็นเลย แต่พอเข้าไปเป็น "นักปฏิบัติ" ก็จะเห็นอะไรขวางหูขวางตาไปหมด

 
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเราตั้งใจสังเกตแรงเกินไป เราไม่รู้ถึงความอ่อนแก่หย่อนตึงของอินทรีย์จึงยังปรับน้ำหนักของสติกับปัญญาไม่ได้ วิธีแก้ไขง่ายๆ ก็คือ "อย่าไปใส่ใจ " แต่เมื่อใดที่ฟันเฟืองของสติปัญญานั้นเข้าล๊อคกันแล้วปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไป

 
ในขณะที่กำหนดรูปนั่งอยู่นั้น ..ทำความรู้สึกตัว รูปนั่ง อยู่ในฐานของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จึงต้องทำความพิจารณาในอาการ และต้องคอยสังเกตใจว่า รู้สึกอย่างไร โดยไม่ต้องหลับตา เพราะที่ไปเห็นลายพรมลายเก้าอี้นั้นก็เพราะความใส่ใจของเราไปดูตรง "เห็น"แล้ว ซึ่งทิ้งการกำหนดรูปไป เมื่อรู้ว่าจิตของเรามุ่งไปทางนั้นก็ต้องรู้ว่า นั่นไม่ใช่เป้าหมายที่ควรไปรู้ เพราะละเลยการกำหนดรูปเป็นฐานไปแล้ว เราต้องดู รูปนั่ง แต่เมื่อพลาดไปสนใจเข้าแล้วก็ไม่เป็นไร มันพลาดไปแล้วก็ช่างมัน เริ่มต้นใหม่

 
แต่ถ้าเรารู้จริตของเราว่า เป็นคนชอบมอง ชอบสังเกต เราก็ต้องแก้ไขโดยการปรับระดับสายตาลงโดยก้มต่ำลงมา และเมื่อทำอย่างนี้บ่อยๆ อีกหน่อยก็จะไม่ใส่ใจไปเอง เวลาที่เราปล่อยใจไปรู้ในสิ่งเหล่านั้นก็ต้องหัดรู้สึกตัวกลับมาที่ฐานที่ตั้งให้ได้
 
TOP
 
 
ทำไมเราจึงต้องปฏิบัติ?
 
ก็เพื่อให้วัฏฏะของเราหยุด
 
เพราะชีวิตของเราทุกคนมีโลภะ โทสะ โมหะเป็นมูล และโมหะที่มีอยู่เป็นมูลนั้นเป็นเหตุใหญ่ที่ปกคลุมไม่ให้เรามองเห็นความจริงทำให้เรามีโลภะและโทสะเกิดขึ้นเนืองๆ ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้นอกจากทำลายความเห็นผิดแล้วยังมุ่งหมายไปทำลายอภิชฌาและโทมนัส จึงต้องมีความสำรวมใจไปเลยตั้งแต่แรก ไม่ใช่พอนั่งลงไปปุ๊บจึงตั้งใจว่า เราจะทำลายอภิชฌา เราจะทำลายโทมนัส .. อย่างนี้เป็นการทำที่ไม่ถูก เพราะไม่ใช่เป็นการบอกตนเองให้รู้ในขณะนั้น แต่ต้องรู้กันตั้งแต่ตอนนี้เลย คือรู้เดี๋ยวนี้ แต่วันที่เข้าอ้อมน้อยไม่ต้องไปรู้..แต่ไปทำ

 
เหมือนกับการที่เรารู้ กอ.ไก่ โดยตอนแรกก็หัดเขียนไปก่อน แล้วก็ท่องในใจว่า กอ.ไก่ แต่พอมาถึงวันนี้บอกให้เขียน กอ.ไก่ แต่ละคนก็เขียนได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกในใจว่า กอ.ไก่เลย แต่เราเขียนเลยเพราะว่ามีความสันทัดแล้ว เช่นเดียวกันกับการปฏิบัติวิปัสสนาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายอภิชฌา(ความพอใจ) และโทมนัส(ความไม่พอใจ) พอใจคือโลภะ ไม่พอใจคือโทสะ ซึ่งมีอยู่ในชีวิตของเรา

 
ความพอใจและไม่พอใจนี้มีอยู่ทุกวัน ที่เราเรียนกันอยู่นี้ก็มีเรื่องของพอใจกับไม่พอใจ เวลาที่ฟังแล้วไม่ค่อยรู้เรื่องถามว่าพอใจตนเองหรือไม่? ไม่พอใจ ตอนที่ตอบคำถามได้ดีใจหรือเปล่าคะ? ดีใจ แต่ถ้าไม่ไม่ได้จะเป็นอย่างไร? รู้สึกไม่สบายใจเลย ..เห็นหรือไม่ว่า เรามีความพอใจและไม่พอใจอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งกำลังเรียนพระอภิธรรมอยู่ก็ตาม ฉะนั้น มีแต่การปฏิบัติวิปัสสนาที่เป็นการทำลายอภิชฌาและโทมนัส และการที่เราหยุดความพอใจหรือความไม่พอใจได้ก็เท่ากับหยุดวัฏฏะ

 
เพราะเมื่อเรากำหนดวิปัสสนาโดยสามารถกำหนดได้ถูกต้อง เช่น ในการได้ยิน การได้ยินเป็นวิบากจิต สิ่งที่มาให้ได้ยินก็เป็นวิบากที่มีทั้งดีและไม่ดี อันเป็นผลมาจากกุศลและอกุศลที่เราเลือกไม่ได้ เมื่อมีเสียงมากระทบหรือมีคนมาพูดชมเราว่า หล่อจัง สวยจัง เราก็เกิดความพอใจขึ้นง่ายๆ หรือเวลาที่ได้ยินเสียงพลงที่เราชอบพอเสียงนั้นมาให้ได้ยินปุ๊บก็มีความพอใจเกิดขึ้นมาทันที หรือในเพลงที่ไม่ชอบก็เหมือนกันความไม่พอใจก็จะเกิดขึ้นมาทันทีด้วยความรวดเร็วเหลือเกิน

 
พอใจ...ก็เป็นกิเลส ไม่พอใจ...ก็เป็นกิเลส ฉะนั้น เมื่อมีกิเลสแล้ว วัฏฏะก็หมุนสืบเนื่องต่อไป แต่วิปัสสนาเป็นการไปทำลายความเห็นผิด เพราะเมื่อความเห็นผิดหมดลง ความพอใจและไม่พอใจก็เกิดขึ้นไม่ได้ เช่น เวลาได้ยิน ให้กำหนดนามได้ยิน เพื่อให้ความรู้ว่า"นามได้ยิน"นี้ไปสกัดกั้นความพอใจหรือไม่พอใจที่จะเกิดติดตามมาด้วยความรวดเร็วนั้นได้ คำว่า "นามได้ยิน"นี้เป็นตัวที่มาชะลอหรือตัวเบรคอภิชฌาและโทมนัส แรกๆที่กำหนดนั้นเราต้องหมั่นระลึกเพื่อให้คำว่า รูป-นามที่กำหนดมาเป็นตัวเบรค

 
คำว่า นามเห็น นามได้ยิน รูปกลิ่น รูปรส เมื่อหมั่นระลึกในคำเหล่านี้ สติสัมปชัญญะก็จะไปสกัดกั้นอภิชฌาและโทมนัส เพราะเมื่อเกิดความระลึกได้กิเลสก็ไม่เกิดขึ้นมา กรรมวัฏฏ์ก็หมุนไปไม่ได้ เมื่อกรรมวัฏฏ์หมุนไปไม่ได้แล้ว วิบากคือผลของกรรมก็ไม่มีไปด้วย การกระทำเช่นนี้เรียกว่า วิวัฏฏะกรรม

 
และเมื่อผู้ปฏิบัติได้กระทำอยู่บ่อยๆ ในวิวัฏฏะกรรม คือเมื่ออารมณ์มากระทบปุ๊บ ก็ตัดกิเลสได้ทัน ไม่ว่าอารมณ์อะไรมาก็ไม่ให้กิเลสเกิด เหมือนกับการที่ลบรอยปากกาบนกระดานลงไปทีละครั้งๆ ลบไปเรื่อยๆ ถามว่า ในที่สุดจะลบหมดหรือไม่? ลบได้หมด ฉะนั้น พระนิพพานจึงไม่ไกลเกินความไขว่คว้าถ้าหากยังไม่ละไปจากความเพียรนั่นเอง
 

TOP

 

 
 
ถาม ขอถามนิดเนื่องเรื่องการปรับอินทรีย์ที่มี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา คือ ตอนที่เราปฏิบัติใหม่ๆ ยังไม่รู้ว่าอะไรคือรูปอะไรคือนาม เราควรจะปรับอินทรีย์อย่างไร หรือควรจะทำอย่างไรครับ?

 
ตอบ ตรงนี้ไม่สามารถตอบได้ เพราะในขณะที่เรายังไม่รู้ว่าอะไรคือรูปอะไรคือนามนั้น ก็คือการปฏิบัติไม่ได้ ตรงนี้ก็คือคำถามที่ค้านกับความเป็นจริง คือ คำที่บอกว่า "ตอนปฏิบัติใหม่ๆ เรายังไม่รู้ว่าอะไรคือรูปอะไรคือนาม " ตอนนั้นก็คือตอนที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ

 
ถาม เข้าใจว่า เรื่องความพอใจนั้นหมายถึงเรื่องของโลภะ ส่วนความไม่พอใจนั้นหมายถึงว่าเรามีโทสะ แต่สิ่งหนึ่งที่สงสัยอยู่คือก็โมหะ ในขณะที่กำหนดรูปนาม แล้วกำหนดว่า นามได้ยิน ซึ่งเป็นการกำหนดในขณะที่เรายังไม่รู้ถึงสภาพของนามได้ยินนั้นอย่างแท้จริง คือเรายังไม่รู้ว่าอะไรคือ นาม อะไรคือรูป แต่เป็นการนำไปท่องเอานั้น ในการกำหนดไปอย่างนี้ถึงแม้จะไม่เกิดความพอใจหรือความไม่พอใจก็ตาม แต่ไม่มีความ"รู้"ในขณะนั้นด้วยก็คือว่ามีโมหะ ใช่หรือไม่?

 
ตอบ คงต้องแยกว่า ในขณะที่เรายังไม่สามารถประหาณกิเลสได้ เราก็ยังมีอนุสัยกิเลสเช่น ความไม่รู้นี้นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะทำกุศลหรืออกุศลเราก็ยังมีอนุสัยกิเลสอยู่ อันนี้คือธรรมชาติที่มีอยู่ในขันธสันดาน แต่ก็อย่าไปหวั่นว่า เรายังมีโมหะอยู่ อย่าไปกลัวหรือวิตกในปัญหานี้ เพราะว่าในขณะที่เรากำหนดรูปนามอยู่นั้น การกำหนดรูปนามลงไปในแต่ละครั้งก็คือ ตัวปัญญา เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายโสภณ แต่โมหะนั้นเป็นฝ่ายอกุศล

 
ส่วนตอนปฏิบัติที่ยังไม่ได้รูปปรมัตถ์หรือนามปรมัตถ์จริงๆ คือยังไม่ได้ญาณปัญญา ขณะนั้นมีโมหะใช่ไหม? ตอบว่า ไม่ใช่ เพราะแม้ญาณปัญญายังไม่เกิดขึ้นจริงในขณะกำหนดนามรูปนั้น ก็ไม่มีโมหะเกิดขึ้น เพราะมี"ปัญญา"เข้ามาแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งเมื่อยังไม่ได้"ญาณปัญญา" จึงยังไม่มีอำนาจไปขุดรากถอนโคนอนุสัยให้เด็ดขาดเท่านั้นเอง
 
 
 
ถามถ้าอย่างนั้นก็เป็นปัญญาเหมือนกัน แต่เป็นปัญญาอีกระดับหนึ่งใช่ไหมครับ? คือเป็นระดับเบื้องต้นใช่หรือไม่ครับ?

 
ตอบ ใช่ ซึ่งจะบอกว่าตอนกำหนดรูปนามแล้วยังไม่ได้นามรูปปริจเฉทญาณเป็นต้นนั้นจะบอกว่ายังมีโมหะในขณะที่กำหนดอยู่นั้นไม่ได้ เพราะการกำหนดนั้นเป็นการกระทำที่มีปัญญาแต่ปัญญาที่มีในขณะนั้นไม่แก่กล้าพอที่จะไปกระชากอนุสัยขึ้นมา

 
เช่น ตอนนี้ผู้ที่ถามอยู่จะไปถอนต้นมะม่วงโดยใช้มือถอน ซึ่งทำอย่างไรก็ดึงไม่ขึ้น ได้แต่เขย่าต้นมะม่วงให้มันสั่น ต้นมะม่วงมันก็สั่นจนดินไหวนิดหน่อย ถามว่าตอนนั้นไม่มีแรงยกใช่ไหม? ตอบว่ามีแรง แต่มีแรงเท่านี้ แต่เมื่อเราเขย่าไปเรื่อยๆ จนดินเริ่มอ่อนแล้ว พอเราเหนื่อยเราก็พักหายเนื่อยแล้วก็ทำต่อ เขย่าไปจนดินเริ่มหลวม ก็เหมือนเราปฏิบัติอยู่บ่อยๆ จนความสันทัดเริ่มมีแล้ว อีกหน่อยพอเหตุปัจจัยพร้อมเหมือนกับดินที่หลวมแล้ว พลังก็จะเพิ่มขึ้นมาจนสามารถถอนต้นมะม่วงได้

 
ฉะนั้น ความสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เขย่าอย่างไรถึงจะคลอน และเมื่อรากคลอนแล้ว ดินหลวมจนเป็นรอยกว้างแล้ว เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมอย่างนี้เราก็สามารถที่จะโยกทีละนิดจนหลุดออกมาได้ ฉะนั้น มันต้องเริ่มจากปริมาณน้อยไปหามาก สักวันหนึ่งก็จะไปถอนรากอนุสัยนั้นได้

TOP

 
 
ถาม เวลาที่ทำสมาธิอยู่ จะกำหนดนามได้ยินได้อย่างไร?

 
ตอบ ต้องบอกเลยว่า สมาธิกับวิปัสสนาไม่ใช่ทางเดียวกัน เพราะการทำสมาธิจะมีรูปแบบของท่าทาง เช่น นั่งยืดตัวให้ตรง ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ปลายนิ้วจรดกันเพื่อให้เกิดความตั้งใจประคองอารมณ์และประคองอิริยาบถ แล้วไม่ควรเอามือวางบนหน้าตักเพราะจะเกิดความสบายเกินไป จะเกิดถีนะมิทธะได้ง่าย การทำสมาธิที่ถูกต้องก็คือ ตั้งกายตรงและมือจะประสานกันไว้ในระดับของสะดือโดยมีปลายนิ้วชนกันเพื่อให้เกิดความตั้งใจมากๆ ให้มีกำลัง แล้วจะกำหนดลมหายใจก็ได้ หรือท่อง"สัมมาอาระหัง" ก็ได้ แล้วก็หลับตา แล้วก็ใช้ตบะอดทนไม่เปลี่ยนอิริยาบถจนกระทั่งทำลายความฟุ้งซ่านให้จิตนั้นมีเอกัคคตาคือเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่บริกรรมอยู่ เช่น ลมหายใจเข้าก็รู้ ลมหายใจออกก็รู้ อย่างนี้เรียกว่าทำสมาธิ

 
ส่วนวิปัสสนานั้นไม่มีรูปแบบของท่าทางกำหนดไว้โดยเฉพาะ แต่จะมีท่าทางที่เป็นไปตามสภาพความจริง ซึ่งเป็นไปได้ทั้งท่านั่งพับเพียบ ท่านั่งไขว้ขา และท่านั่งต่างๆ ที่เหมาะสมของแต่ละคน ...ก็จะเห็นว่า ระหว่างสมาธิกับวิปัสสนานั้นมีท่านั่งต่างกันแล้ว

 
สมาธิคือการที่จิตเราหาอารมณ์ ใดอารมณ์หนึ่งมาเป็นที่พึ่ง อารมณ์ที่หามาเป็นที่พึ่งนั้นก็จะเป็นอารมณ์ที่เราถนัด เช่น ลมหายใจเข้าออก หรือคำภาวนา เช่น "พุทโธ" "สัมมาอาระหัง" หรือกสิณต่างๆ ที่ถูกกับจริตแล้วนำมาทำ

 
ผู้ที่มีอดีตที่ชำนาญกสิณดินก็ต้องไปดินสีอรุณหรือสีหมากสุกมา แล้วก็เอามาทาลงบนผ้าขาวบางที่ขึงตึงอยู่บนปากหม้อดินเพื่อให้ดินเข้าไปในเนื้อผ้าและเป็นวงกลม จากนั้นก็เอาดินนั้นมาเพ่ง ...สมาธิจึงต้องเริ่มต้นจากการไปหามา

 
ส่วนวิปัสสนานั้นไป "หา" ไม่ได้ ห้ามไป "หา" แต่มาเอง คือ มาที่ปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเท่านั้นที่เป็นความจริง และปัจจุบันมีสองชนิด คือ ปัจจุบันธรรม กับปัจจุบันอารมณ์

 
ปัจจุบันธรรม คือ ธรรมที่มีเกิดขึ้นติดต่อกันอยู่ในโลกนี้ ไม่มีใครไปทำลายปัจจุบันธรรมได้ มีอยู่ตลอดเวลา เช่นในขณะนี้มี "กลางคืน"ไหม? มี มีคนกำลังคลอดลูกไหม? มี มีคนกำลังตายไหม? มี มีคนถูกยุงกัดไหม? มี นั่นก็คือธรรมชาติของโลกเรียกว่าเป็นปัจจุบันธรรม คือเป็นธรรมที่มีอยู่ไม่ว่าจะเกิดกับเราหรือไม่ก็เป็นธรรมที่มีอยู่

 
ปัจจุบันอารมณ์ คือ ปัจจุบันธรรมนั้นแหละที่เกิดขึ้นกับเรา เช่นขณะนี้มีคนถูกยุงกัด..นั่นไม่ใช่ปัจจุบันอารมณ์ของเรา แต่ถ้ายุงมากัดเราเมื่อไหร่..ขณะนี้แหละเป็นปัจจุบันอารมณ์ของเรา ใครที่ถูกยุงกัดอยู่ตอนนี้ก็เป็นปัจจุบันอารมณ์ของคนนั้นนั่นเอง หรือเช่นยื่นมือไปตีแขนคนที่นั่งอยู่ตอนนี้ คนที่ไม่ถูกตีจะรู้สึกด้วยไหม? ไม่รู้สึก แต่คนที่ถูกตีจะรู้สึกซึ่งเป็นความรู้สึกส่วนตัวเพราะมีการรับอารมณ์เกิดขึ้น ซึ่งตัวรับอารมณ์ตรงปัจจุบันนี้แหละเป็นตัวก่ออภิชฌาและโทมนัส
 
 
 
ปัจจุบันธรรมไม่ได้ก่ออภิชฌาและโทมนัส

 
แต่ปัจจุบันอารมณ์ก่ออภิชฌาและโทมนัส
 
 
เพราะว่าเมื่อเราถูกยุงกัดหรือถูกใครตี เราพอใจไหม? ไม่พอใจ
 
แล้ว"ไม่พอใจ"นี้เป็นอะไร ? เป็นกิเลส
 
เมื่อกิเลสเกิดขึ้นแล้ว วัฏฏะหมุนไหม? วัฏฏะหมุน หมุนเป็นกรรมวัฏฏ์ วิบากวัฏฏ์
 
แต่ถ้าหากเราได้รับอารมณ์ดี เช่นในขณะนี้มีคนกำลังทานไอศครีมอยู่ มีกล้วยหอม มีช๊อกโกแลต มีถั่ว มีกลิ่นหอม รสหวานๆ เย็นๆ ซึ่งเรากำลังหิวอยู่ถ้าเราได้ทานความรู้สึกเหล่านั้นก็เป็นที่เรา หรือไปทานสุกี้กัน สิ่งที่เราตักเข้าปากแล้วรู้รสขณะนี้นี่แหละทำให้เกิดความพอใจและไม่พอใจ เช่นบางคนเคี้ยวพริกเข้าไปก็ชอบเลยเพราะชอบเผ็ด แต่บางคนพอเคี้ยวโดนพริกปุ๊บก็ "อุ๊ย! เผ็ดจัง" แล้วก็รีบคายออกมาเลย อภิชฌาและโทมนัสจึงเกิดขึ้นได้ในปัจจุบันอารมณ์

 
ฉะนั้น ในปัจจุบันนี้แหละจึงเป็นปัจจุบันต้องห้าม ที่ต้องห้ามไหลไปกับอภิชฌาและโทมนัสด้วยการรู้สึกไปในความจริงว่า ที่เผ็ดจากพริกที่เคี้ยวเข้าไปนั้น..จริงๆ แล้วเราไม่ได้เผ็ด เพราะถ้าเราเผ็ดเมื่อไหร่..หากเราชอบเราก็พอใจ ถ้าไม่ชอบก็ไม่พอใจ เราจึงต้องย้ายอารมณ์คือเปลี่ยนความเห็นใหม่ ให้เห็นถูกว่าที่เผ็ดนั้นเป็น รูป คือพริกนั้นมันเผ็ด ไม่ใช่เราเผ็ด แต่เป็นพริกเผ็ดคือ รูปเผ็ด

 
การที่เราต้องไปกำหนดก็เพื่อรื้อเอาสัญญาวิปลาสออกว่าเป็น "เรา" เมื่อเราสามารถรื้อสัญญาวิปลาสออกได้ก็เท่ากับปิดโอกาสสะกัดกั้นอภิฌชาและโทมนัสไม่ให้เกิด เมื่ออภิฌชาและโทมนัสไม่เกิดแล้ววัฏฏะก็จะถูกลบให้เหลือน้อยลงไป ...นี่คือ วิปัสสนา

 
วิปัสสนาคือการเผชิญความจริง แต่สมาธิคือการกระทำความรู้สึกเพื่อสะกัดกั้นเหมือนกับการสร้างวงล้อมให้ตนเอง ว่าเราไม่ต้องการเห็น ไม่ต้องการได้ยิน ไม่ต้องการได้กลิ่น ไม่ต้องการรู้รส ไม่ต้องการให้ใครมาพูดกับเรา ไม่ต้องการคิดอะไรแล้วก็เลยทำสมาธิ แต่จะทำสมาธิได้นานขนาดไหนก็ตามก็ต้องกลับมาเจอทุกข์อีก เช่น ทำไปสามชั่วโมงก็เกิดความหิวแล้ว ความหิวนั้นเกิดได้ในสมาธิถ้าหากยังไม่ได้ฌาน เมื่อหิวแล้วไม่ได้กินก็เกิดความทุกข์ ฉะนั้น การทำสมาธิจึงไม่ใช่การทำลายความทุกข์อย่างแท้จริง สมาธิจึงไม่ใช่ทางพ้นทุกข์

 
ส่วนวิปัสสนานั้นก็ใช้ชีวิตตามปกติ เกิดความหิวได้ และเมื่อเกิดความหิวขึ้นมาแล้วก็รู้เลย คือมีความรู้ว่า ไม่ใช่ "เรา"หิว แต่เป็นลักษณะของความรู้สึก และความรู้สึกเป็น "นาม" และความรู้สึกนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ "จำเป็น" แล้วที่จะต้องกินเพื่อแก้ทุกข์ ไม่ได้กินเพื่อแก้อยาก "ความจำเป็น" ทำให้เรามีพฤติกรรม ไม่ใช่ "ตัณหา" ทำให้เกิดพฤติกรรม

 
เมื่อเรียนแล้วเราจึงรู้ว่าเราควรเลือกทำอะไร เพราะชีวิตของเรา..เกิดยาก ตายง่าย.. กว่าจะเกิดได้นั้นลำบากเหลือเกินโดยเฉพาะการเกิดเป็นมนุษย์ โอกาสที่จะเกิดเป็นมนุษย์นั้นยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร ฉะนั้น เมื่อเกิดมาแล้วและเวลาเราเหลือน้อยแล้ว ปฏิทินชีวิตถูกฉีกออกทุกวัน เราจึงต้องเลือกเดินทางที่ให้ประโยชน์แท้ ควรหรือที่เราจะเลือกทำงานที่จะไม่ให้ประโยชน์แท้ ลองตั้งคำถามตัวเองว่า เราควรจะหลบภัยหรือไปให้พ้นภัย?

 
หลบภัยคือการทำสมาธิก็ได้ชั่วคราว แต่ไปให้พ้นภัยคือทำวิปัสสนาให้พ้นไปจากวัฏฏะสงสาร
 
TOP
 
 
อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องทุกข์ เพราะทุกข์เป็นสิ่งที่ให้กำหนดรู้ ในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันเป็นอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั้น ทุกข์มีกิจให้กำหนดรู้ สมุทัยคือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์มีกิจให้ละ นิโรธคือความสิ้นสุดทุกข์มีกิจคือทำให้แจ้ง มรรคคือหนทางแห่งความพ้นทุกข์มีกิจให้ดำเนิน

 
ในอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ นั้นเราจะยกมาอธิบายในที่นี้เพียงอย่างเดียว คือ ทุกข์ เพราะทุกวันนี้ชีวิตเป็นทุกข์ คำว่า "ทุกข์เป็นสิ่งให้กำหนดรู้" คำนี้เป็นคำวิเศษมากๆ มีความหมายสุขุมคัมภีรภาพมากมายเพราะว่าผู้ใดเห็นทุกข์ ผู้นั้นจะสิ้นสุดทุกข์ และการสิ้นสุดทุกข์จะต้องอาศัยทุกข์เป็นบันไดไปสู่ความพ้นทุกข์

 
ในการปฏิบัติจะมีคำว่า ทุกข์ คือทุกข์อริยสัจจ์นี่แหละที่ให้ไปกำหนดรู้ คือ รูป นาม เพราะรูปและนามต่างก็ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้จึงเป็นทุกข์ หน้าที่ของผู้ปฏิบัติคือเข้าไปกำหนดรู้ทุกข์ ซึ่งก็คือรูป นาม คือชีวิตของเรานั่นเอง ไม่ว่าหญิงหรือชายก็คือขันธ์ ๕ ที่ประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สรุปเป็นรูป ๑ นาม๔ เมื่อเราเรียนแล้วก็จะสามารถนำชีวิตออกมาเป็นรูปเป็นนามได้

 
เราจึงมีหน้าที่ไปกำหนดรู้ว่าขณะนี้มีอะไรเกิดขึ้น นั่งก็รู้ เดินก็รู้ ยืนก็รู้ รู้สึกก็รู้ เมื่อรู้ในรูปรู้ในนามในแต่ละขณะก็จะรู้ว่า ในรูปและในนามเองนั้นจะมีทุกข์เบียดเบียนอยู่เป็นนิตย์คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้อันเป็นลักษณะของรูปนามอีกทีหนึ่งที่เรียกว่า ลักษณะทุกข์

 
ในขณะปฏิบัตินั้นท่านบอกว่าจะทำอะไรให้มีโยนิโสมนสิการเสียก่อนว่า ทำไปเพื่ออะไร มีตัวการอะไรในการกระทำนั้น เช่น นั่งอยู่..แล้วจะเปลี่ยนอิริยาบถเพราะอะไร? ทำไมจึงต้องเปลี่ยน? ก็เพราะว่ามันมีทุกขเวทนา และเมื่อเราไปดูรูปนามนั้น ที่เห็นได้ชัดมากที่สุดคือ ทุกขเวทนาที่ปรากฏขึ้น

 
ทำไมเราจึงต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ก็เพราะมีทุกขเวทนาปรากฏขึ้นในทางกายก็ได้ หรือทางใจก็ได้(โทมนัส) เช่น เดินนานๆ แล้วเกิดความเมื่อย เมื่อย..เป็นทุกขเวทนา ก็ทำความรู้สึกตัว..นั่ง เมื่อนั่งลงไปปุ๊บก็มีกลิ่นเหม็นเข้ามา ถามว่านั่งังไม่ทันเมื่อยเลยแต่เป็นทุกข์หรือไม่? เป็นทุกข์ เพราะจิตรับอารมณ์ให้เกิดเวทนาที่เป็นทุกข์จากกลิ่น
 
 
 
รูปนามจึงทำให้เกิดทุกข์เวทนาเพราะเป็นที่ตั้งของทุกขเวทนา และในทุกขเวทนานี้เช่นเมื่อย เราจึงต้องมีโยนิโสกำหนดว่าเมื่อย เพื่อป้องกันตัณหาไม่ให้ทำไปเพราะความอยากแต่เมื่อยแล้วจำเป็นต้องนั่ง จึงเป็นการกระทำที่ไม่ได้เลี้ยงชีวิตด้วยตัณหาและอวิชชาแต่เลี้ยงด้วยปัญญาว่าเป็นรูป เป็นนาม

 
เมื่อจะนั่งก็เพราะ "มีความจำเป็น" ไม่ใช่ตัณหา "อยากนั่ง" เมื่อนั่งเพื่อแก้ไขทุกข์แล้วก็ดูรูปนั่งต่อไป ผู้ปฏิบัติใหม่ๆ จะเห็นทุกขเวทนาได้ชัด เมื่อมีโยนิโสแล้วต้องเปลี่ยนแปลงอิริยาบถไปก็จะมี "สังขารทุกข์" ตามมาให้เห็น

 
สังขารทุกข์ คือทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลง เช่น นั่ง ..กำหนดรูปนั่ง ดูอาการ..รู้สึกรูปนั่ง เมื่อเมื่อยแล้วก็สังเกตตัวเองว่ามีความรู้สึกเมื่อยแล้วเช่นเมื่อยหลังจนอยู่ในท่านั่งไม่ได้แล้วรู้ว่าจำเป็นต้องออกไปเดินแล้ว ก็มีสติรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงอิริยาบถจากท่านั่งไปสู่ท่ายืน

 
การนั่งแล้วมายืนนี้ไม่ได้สำเร็จง่ายดังใจ แต่ต้องมีการช่วยเหลือเช่นเอี้ยวตัว หรือพยุง หรือจับยึดบางสิ่ง หรือท้าวแขนเพื่อดันตัวขึ้นก่อนที่จะลุก ..เราต้องคอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงขณะที่กำลังแก้ไขทุกข์นี้ไปสู่ท่าใหม่ ต้องคอยสังเกตว่า เราต้องทำทุกอย่าง ต้องรู้..แล้วต้องแก้ไขเอง ต้องดำเนินงานเอง งานที่ต้องทำเหล่านี้เป็นงานที่เราต้องคอยสังเกต จากรูปหนึ่งไปอีกรูปหนึ่งจึงต้องคอยสังเกต

 
เมื่อนั่งแล้วจะเปลี่ยนอิริยาบถก็ทำความรู้สึกตัวไปในอาการที่จะเปลี่ยนด้วย แต่อย่าไปทำตั้งใจทำให้ช้าๆ นะ ซึ่งผู้ปฏิบัติใหม่ๆ จะไม่เห็นสังขารทุกข์นี้แต่จะเห็นทุกขเวทนา แต่เมื่อมีความคล่องแล้วสังขารทุกข์ก็จะมาปรากฏให้ผู้ปฏิบัติเห็นประจักษ์ด้วยปัญญาเอง

 
ทุกขเวทนาท่านเปรียบเหมือนคนป่วย สังขารทุกข์ท่านเปรียบเหมือนพยาบาล ความสืบเนื่องของทุกข์จึงมีอยู่ตลอดเวลา ชีวิตจึงไม่ได้มีความสุขเลย และอย่าลืมว่าอิริยาบถใหม่นั้นปิดบังทุกข์ในอิริยาบถเก่าถ้าหากเราไม่สำเหนียกให้ดี เพราะถ้าขาดโยนิโสแล้วเมื่อนั่งลงไปก็จะ "สบาย"

 
การไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นเพื่อไปทำความเห็นถูกทำลายอัตตาและทำลายสุขวิปลาสก็จะได้เห็นแต่ทุกข์ทั้งนั้น คือ ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ และทุกข์เท่านั้นที่ดับไป จึงไม่มีอะไรนอกจากทุกข์อริยสัจจ์
 
TOP
 
 
ถาม เวลาที่เรากำหนดรู้แล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าเรารู้จริง?

 
ตอบ คำถามนี้เป็นคำถามที่สืบเนื่องมาจากเรื่องของสมาธิ เช่น บางครั้งนั่งทำสมาธิแล้วเกิดความรู้สึกว่าเหมือนจะสงบหรือเหมือนจะเห็นอะไร..แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเห็นจริง? เพราะบางครั้งอาจมีคนบอกนำเราว่า มีผ้าเหลือง มีแสงทองอยู่ตรงนั้นตรงนี้ เราก็พยายามสร้างมโนภาพให้เกิดขึ้นมา พอภาพทางใจเกิดขึ้นมาแล้วเราเองนั่นแหละที่จะรู้ว่าเราสร้าง ..คำถามนี้จึงเป็นเรื่องของสมาธิ และนี่ก็คือความลำบากของสมาธิซึ่งสามารถจูงกันไปได้ แต่ไม่ได้เดินเอง จึงไม่มั่นคง

 
แต่วิปัสสนานั้นมีกฎตายตัวที่เกิดขึ้นจากเหตุผลโดยไม่มีใครสร้างขึ้น เช่น เชื่อไหมว่าผู้ถามมีโลภะคือความโลภ ถึง ๘ อย่างตามแผนผังที่ปรากฏบนกระดาน ความโลภทั้ง ๘ อย่างนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกันไปอย่างมีเหตุผลและพิสูจน์ได้ เช่น ความโลภที่เกิดพร้อมด้วยความยินดีประกอบไปด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นเองโดยไม่มีใครชักชวน ..ลองคิดสิว่า เรามีความโลภชนิดนี้ไหม? เช่นเราเดินไปตลาดเราก็เดินตรงไปที่ร้านขายของชนิดนั้นแล้วแล้วก็หยิบของชิ้นที่ชอบใจคิดว่าดีคิดว่าสวยขึ้นมาด้วยตัวเอง ...ก็จะเห็นว่าความโลภชนิดนี้เราเคยมีแน่

 
หรือความโลภอย่างที่สองที่เกิดพร้อมด้วยความยินดีประกอบไปด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นเองโดยมีคนชักชวน เรามีไหม? เช่น เรากำลังเลือกของอยู่แต่มีคนมาชวนให้ไปเลือกของชิ้นอื่น ก็เลยมาเลือกตามเขา ..ความโลภอย่างนี้เราจึงมี หรือความโลภอย่างที่สามความโลภที่เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบไปด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นเองโดยไม่มีใครชักชวน ..ลองคิดสิว่าเรามีไหม? เช่น เราได้เงินเดือนมาทุกเดือนเลยแต่เงินเดือนครั้งแรก กับเงินเดือนครั้งนี้ทำให้อารมณ์ต่างกันแล้ว เงินเดือนเดือนนี้ทำให้มีความยินดีแต่ไม่ยินดีมากเหมือนเดือนแรกที่รับเงินเดือนใหม่ๆ และเงินเดือนของเราเราก็ยินดีเองไม่มีใครมาชวนเลย ..ก็จะเห็นว่าเรามีความโลภชนิดนี้อยู่เช่นกัน

 
หรือมาดูในเรื่องของโทสะที่แยกออกเป็นสองชนิดซึ่งมีทุกคน คือ โกรธเองไม่มีใครชักชวน เช่น บางครั้งเรานั่งอยู่เกิดหงุดหงิดรำคาญตนเองโกธรตัวเองขึ้นมาแบบไม่มีใครชวนเลย กับอีกชนิดหนึ่งคือโกรธเพราะมีคนชักชวน เช่น มีคนมาว่า เสียงว่า..ทำให้เราโกรธ ความโกรธจึงมีต่างกันในสองอย่างนี้
 
 
 
บนกระดานนี้จึงตีแผ่เรื่องของเราพฤติกรรมแต่ละอย่างออกมา นี่คือวิทยาการที่ไม่มีใครมาลบล้างได้เป็นพระสัพพัญญุตญาณ ที่ยกตัวอย่างนี้ขึ้นมาก็เพื่อจะเห็นได้ว่า เราเรียนพระปรมัตถ์เรียนเหตุผล และเมื่อมีหลักการและเหตุผลแล้วเราก็เดินตามหลักการ เพราะหลักการนั้นจะเหมือนไม้บรรทัดที่จะวัดใจตนเองได้เลย เวลาเราไปฟังใครที่ไหนเราก็จะรู้ได้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามเหตุผลหรือไม่เพราะเรามีไม่บรรทัดของแท้อยู่ในใจแล้วจึงใช้วัดสิ่งที่ได้ยินนั้นได้ว่าตรงกับพระพุทธเจ้าพูดหรือไม่? เราก็จะเป็นผู้ได้เปรียบ

 
และเราก็จะไม่มานั่งหลับตาทำอะไรโดยที่เราไม่รู้ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นการทำให้รู้ เช่น หิว..ก็ต้องรู้ตัวสิว่าหิว เมื่อย..ก็ต้องรู้ตัวสิว่าเมื่อย ง่วง...ก็ต้องรู้ตัวสิว่าง่วง ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มีอยู่และให้ไปรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น และจำเป็นต้องแก้ไขเพื่อป้องกันตัณหาคือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ...อย่าอยาก เพราะอยากแล้วต้องแสวงหา เมื่อแสวงหาแล้วไม่สมความปรารถนาก็จะยิ่งมีทุกข์มากขึ้น จึงต้องหยุดตัณหาด้วย"ความจำเป็น" เพราะมีทุกข์มาบีบคั้นจึง "จำเป็น" ต้องแก้ไข

 
และป้องกันอวิชชา คือความไม่รู้ว่าเป็นรูปเป็นนาม ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจึงทำลายทั้งตัณหาและอวิชชาทันที จึงเป็นการตัดวัฏฏะเป็นวิวัฏฏะแน่นอน รูปนามเป็นอุปกรณ์ให้ปัญญาเพิ่มพูนขึ้น

 
ฉะนั้น ที่ถามมานั้นเป็นเรื่องของสมาธิ แต่วิปัสสนาให้ลืมตาได้ให้เห็นได้แต่อย่าเห็นผิดว่าเป็นเรา และอย่าอยาก เมื่อเราเห็นในความจริงเช่นนี้ เช่น นั่งอยู่และรู้ว่าเมื่อยแล้วก็เปลี่ยนอิริยาบถ พอเปลี่ยนอิริยาบถก็ดูต่อไปอีก ดูอิริยาบถใหม่ต่อไปก็จะรู้ว่าเมื่อยอีกแล้ว ก็เปลี่ยนอีกก็เมื่อยอีก..

 
ชีวิตของเราได้ประสบทุกข์อยู่ทุกวันต้องแก้ไขอยู่เป็นอาจิณ ไม่ว่าจะเป็นความหิวที่ต้องบำบัดอยู่ทุกวัน หรือการปวดอุจจาระปวดปัสสาวะเราก็เข้าห้องน้ำกันแล้วก็รีบออกมา แต่ไม่เคยพิจารณาจึงไม่รู้ทุกข์ แต่ในการปฏิบัติวิปัสสนานั้นไม่ใช่การปล่อยให้เกิดขึ้นโดยขาดการพิจารณา เมื่อปวดปัสสาวะเป็นเรื่องธรรมชาติเป็นธรรมะอย่างหนึ่ง เราก็กำหนดรู้ลงไปว่า เป็นทุกข์ มีทุกข์มาปรากฏจำเป็นต้องไปปัสสาวะ แทนที่จะเดินไปอย่างไม่รู้สึกตัวก็มีสติรู้ตัวเดินไป แล้วทำไมต้องเดินล่ะ ..ก็เพราะทุกข์จากการปวดปัสสาวะนี่แหละเป็นคนไข้ แล้วขาที่เดินไปเข้าห้องน้ำนั้นเป็นพยาบาลที่ต้องมาดูแลทุกข์การปวดปัสสาวะให้ไปถึงห้องน้ำ

 
พอไปถึงห้องน้ำพยาบาลก็ต้องเปิดประตูเข้าไป พอเข้าไปแล้วก็ต้องปิด ต้องปลดเปลื้องเครื่องพันธนาการคือเสื้อผ้า แล้วก็ต้องขับถ่าย ต้องทำความสะอาดเอง ต้องลุกขึ้นมาใส่เสื้อห้าให้เรียบร้อย แล้วก็เปิดประตูออกมา ..จะเห็นว่าสติตามรู้ทุกอย่าง ถามว่าทุกข์มีไหม? มีตลอด นี่คือความจริง
 
TOP
 
 
ถาม ถ้าหากเราตายไป เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะไปนิพพาน หรือจะไปเป็นเทวดา หรืออยู่ไปอยู่ในภูมิไหน?

 
ตอบ การศึกษาพระอภิธรรมตั้งแต่ปริจเฉทที่ ๑ จะบอกกับผู้ศึกษาเลยว่า มีภพภูมิอะไรบ้างในการเวียนว่ายตายเกิด เครื่องหมายของจิตทั้ง ๑๒๑ ดวง ที่ปรากฏอยู่บนกระดานนี้จะบอกได้หมดถึงความเป็นไปในทุกภูมิ มีการแบ่งกลุ่มเครื่องหมายของจิตให้เข้าใจได้ถึงความเป็นกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา อย่างเช่นกลุ่มแรกที่มี ๑๒ ดวงนั้นเป็นกลุ่มของอกุศลจิตที่ประกอบไปด้วย โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ และโมหมูลจิต ๒

 
กลุ่มต่อมาก็คือ กลุ่มของมหากุศลจิตที่มีอยู่ ๘ ดวง เมื่อสักครู่ได้อธิบายตัวอย่างของโลภมูลจิตไปแล้ว ตอนนี้จะยกตัวอย่างในเรื่องของกุศลให้ฟังว่า คนเรานั้นมีกุศลหลายอย่าง เช่น กุศลที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความยินดีโดยไม่มีใครชักชวนและประกอบไปด้วยปัญญา เช่น การปฏิบัติวิปัสสนา เป็นต้น กับกุศลที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความยินดีโดยไม่มีใครชักชวนและไม่ประกอบไปด้วยปัญญา เช่น การบวชตามประเพณี การรักษาศีล การทำสมาธิ หรือการให้ทานแบบส่งๆ ไป เป็นต้น

 
ฉะนั้น เมื่อเราทำดีคือกุศล ก็จะได้รับผลเป็นวิบากกุศล และเมื่อทำอกุศลก็จะได้รับผลเป็นวิบากอกุศล ให้ผลได้ทั้งในปฏิสนธิและปวัตติกาลคือภายหลังการเกิด ซึ่งจะต้องค่อยๆ ศึกษาไปตามลำดับจะตอบให้เชื่อตอนนี้เลยก็คงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งโดยปกติวิสัยของผู้ที่นั่งอยู่ตรงนี้นั้นไม่ยอมเชื่อใครง่ายๆ แต่เพราะเหตุผลของพระธรรมจึงทำให้เขาเชื่อ เพราะกว่าจะมีความเข้าใจกันมาจนถึงวันนี้จะต้องมีการเริ่มต้นมาจากสิ่งเล็กๆ น้อยที่พูนเพิ่มจนมากขึ้น เหมือนกับการเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่งที่ต้องเริ่มต้นจากพยัญชนะและสระต่างๆ มาผสมรวมกันเป็นคำ เป็นประโยค เป็นย่อหน้า และเป็นเรื่องราวให้เราอ่านได้ กว่าเขาจะเขียนออกมาให้เราอ่านได้เขาจะต้องใช้เวลาเขียน

 
เช่นเดียวกัน กว่าเราจะเชื่อได้และยอมรับอย่างปักใจเชื่อจึงต้องอาศัยเวลา และพระพุทธเจ้าเองก็ไม่ได้อยู่ดีๆ มาบอกว่าจะสอนเรื่องนรกสวรรค์ แต่พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องกรรม สอนเรื่องชีวิตของตนเองว่าทำกรรมแล้วจะให้ผลอย่างไรบ้าง ซึ่งผู้ที่ศึกษาแล้วก็จะเกิดความสะดุ้งกลัว เพราะกฎหมายบ้านเมืองนั้นใช้เพียงแค่ชาตินี้ชาติเดียวและบางทียังหลบรอดได้ แต่กฎของกรรมไม่มีใครหนีพ้นแน่ เช่น ทำไมคนเราเกิดมาหน้าตาไม่เหมือนกันล่ะ ..ก็เพราะกรรม คนที่เคยโกหกมากๆ พูดเท็จมากๆ นั้นก็จะมีผลให้ฟันไม่เรียบ มีกลิ่นปากเหม็นรุนแรง มีไอตัวร้อนจัด มีลูกนัยน์ตาไม่อยู่ในระดับปกติ พูดไม่สะดวก พูดติดอ่าง ..ผลเหล่านี้และเป็นสิ่งที่ฟ้องว่า เคยโกหกเอาไว้

 
เมื่อเราเรียนรู้เหตุแล้ว ก็จะทราบถึงผลที่ปรากฏว่ามาจากเหตุ และเมื่อเราไม่ชอบผลที่ปรากฏนี้เช่นฟันไม่เรียบ เราก็จะสร้างเหตุใหม่เพราะอดีตชาติเราแก้ไม่ได้ แต่เราทำไว้เพื่ออนาคตได้ โดยให้ลองสมมุติตนเองว่าตอนนี้เป็นชาวนากำลังจะออกไปหว่านข้าว เมื่อหว่านข้าวลงไปในนาจนเที่ยงแล้วก็หิวข้าว ถามว่า จะไปกินข้าวในนาที่เพิ่งหว่านลงไปได้ไหม? ไม่ได้ แต่ชาวนามีข้าวกลางวันกินใช่ไหม? ใช่ ข้าวที่ชาวนากินนี้เป็นข้าวปีที่แล้วเป็นข้าวยุ้งที่แล้วที่หว่านและเก็บเกี่ยวไปแล้ว เคยทำข้าวอะไรไว้ในปีที่แล้วก็ต้องกินข้าวชนิดนั้น เราจึงใช้ของเก่าอยู่ตลอดเวลา ส่วนข้าวใหม่ในปีนี้เรายังกินไม่ได้หรอกเพราะกำลังเจริญเติบโต แต่เมื่อถึงเวลาแล้วเราก็ต้องเก็บเกี่ยวแล้วก็เอามากินต่อไป ฉะนั้น เหตุและผลจึงเป็นแบบนี้ นี่แหละคือเรื่องของชีวิต

 
ความโกรธ เกลียด รัก ชอบ ชัง เป็นอารมณ์ที่เราทำขึ้นเองทั้งสิ้น บางครั้งคำเดียวกันที่เขาด่าว่าเราแล้วเราโกรธ แต่พอเอาไปพูดให้ฝรั่งฟังเขาก็ฟังไม่รู้เรื่องและก็ไม่โกรธ แต่ที่เราโกรธเพราะเราไปตีเทียบแล้วเสพอารมณ์ว่าเขาว่าฉัน ...แท้ที่จริงเสียงนั้นก็คือความสั่นสะเทือนของอากาศ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่เราไปรวบรวมแล้วตีความแล้วเอาเราเข้าไปบงการจึงมีกิเลสเกิดขึ้นทำให้วัฏฏะหมุนไป ฉะนั้น ถ้าหากเราไม่ศึกษาพระอภิธรรมเราก็จะเป็นผู้เสียเปรียบตลอดเวลา ..เป็นชีวิตที่น่าอนาถ แต่เมื่อศึกษาแล้วก็จะทำให้ชีวิตดีขึ้น อารมณ์ดีขึ้น อยู่ได้โดยไม่ต้องหวังพึ่งอะไรลมๆ แล้งๆ แต่มีตนเป็นพึ่งคือมีปัญญาเข้าไปรู้ นี่คือสิ่งพระพุทธองค์ทรงสอนให้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ใครเล่าจะมาเป็นที่พึ่งแก่เราได้ ..อัตตาหิ อัตโน นาโถ โกหิ นาโถ ปโรสิยา ..

 
การที่เราจะเป็นที่พึ่งแห่งตนได้ ก็คือการที่เราเข้าไปมีปัญญาที่รู้ว่า ที่เราเห็น ได้ยินนี้ เป็นวิบาก ถ้าหากเราไปตอบโต้ผิดวัฏฏะก็จะหมุนเรื่อยไป ยกตัวอย่างเช่นคนเจ้าโทสะ เมื่อมีเรื่องราวเข้ามาก็เหมือนกับมีคนปาลูกบอลมาใส่เรา แล้วเราก็ตีโต้กลับไปปะทะผนัง ลูกบอลนั้นก็กระเด้งกลับมาอีก ยิ่งตีแรงเท่าใดแรงสะท้อนก็ยิ่งแรงกลับมาหาเราเท่านั้น ซึ่งตรงกับคำว่าใครทำใครได้ ทำมากได้มากทั้งดีทั้งชั่ว ทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น

 
ฉะนั้น ทางหลุดพ้นก็คือ "เปิดช่องใจให้กว้างขึ้น" แม้จะมีลูกบอลกองใหญ่ที่พร้อมจะถูกปาเข้ามาหาเรา เราก็ต้องเตรียมใจรับให้ดี เพราะถ้าเราตีโต้กลับด้วยความโกรธลูกบอลก็จะย้อนกลับไปที่กองเดิมและยังมีปริมาณเท่าเดิม แต่ถ้าเขาตีลูกบอลใส่แล้วเรายอมรับกระทบโดยกำหนดว่าเป็น วิบากของเรา และปล่อยให้ลูกบอลตกลงแล้วผ่านเลยไปปริมาณลูกบอลในกองข้างหน้าก็จะน้อยลง และในวันหนึ่งข้างหน้าลูกบอลเหล่านั้นก็จะหมดลงไปได้

 
TOP
 
 
ถาม ในการปฏิบัติที่ผ่านมา ปรากฏว่าในหนึ่งวันนั้นก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรทำจึงเดินไปเปิดประตูบ้าง ทำโน่นทำนี่บ้าง และก็จะมีอาการปวดหัว ปวดท้องอยู่ตลอด และปกติก็เป็นคนที่ไม่ได้ดื่มน้ำทั้งวัน แต่พอไปเข้าห้องปฏิบัติก็คอแห้งดื่มน้ำเกือบทั้งวันเลยค่ะ อาการเหล่านี้มันเกิดจากอะไรคะ?

 
ตอบ เกิดจากการปล่อยปละละเลยงานที่จำเป็นคือการดูรูปดูนาม เหมือนกับในบริษัทแห่งหนึ่งมีพนักงานทำความสะอาด มีเสมียน มีผู้จัดการ และพนักงานอื่นๆ ซึ่งมีงานมากมาย แต่ในบริษัทนั้นเรามีหน้าที่พิมพ์ดีด ถึงจะพิมพ์คล่องเพียงไหนเราก็ต้องกดแป้นไปทีละตัวให้รวมเป็นคำนั้นๆ ไม่มีใครที่ชำนาญขนาดไหมมาพิมพ์กดแป้นครั้งเดียวได้เป็นคำนั้นๆขึ้นมาหรอก แต่เพราะอาศัยความไวในการกดทีละตัวจึงปรากฏตัวอักษรอย่างรวดเร็ว

 
เมื่อเราเป็นพนักงานพิมพ์ดีดแต่ละทิ้งหน้าที่พิมพ์ดีดเที่ยงเดินไปดูเหรัญญิกคิดเงินบ้าง เดินไปดูภารโรงทำงานบ้าง แต่ไม่ทำงานของตัวเองทั้งที่มีงานน้อย และอีกอย่างหนึ่งการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้คือการเอาชนะกิเลส เป็นการฝืนกิเลส แต่กิเลสมันไม่ค่อยอนุญาตเพราะเราอยู่ตามอำเภอใจกันมานานมาก เมื่อมีโอกาสที่จะดูตนเองจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถนัด ปกติเรามีโอกาสดูตัวเองก็ตอนที่ดูกระจก พอเลิกจากดูกระจกเราก็ดูคนอื่นตลอดเลย แม้กระทั่งการดูทีวีก็ตามก็เป็นการดูคนอื่น

 
ฉะนั้น การที่มาดูตนเองนานๆ มันจึงน่าเบื่อ แต่ความเบื่อเหล่านี้ยิ่งดูก็ยิ่งรู้ เหมือนกับการส่องกระจกที่ยิ่งจ้องก็ยิ่งเห็นสิวฝ้า ยิ่งมองยิ่งเห็นหน้าตาอัปลักษณ์ ก็คือเห็นความทุกข์นั่นเอง

 
ถ้าหากมีอาการปวดท้อง..หน้าที่ของเราคือกำหนดนามรู้สึก จะปวดกี่ครั้งก็นามรู้สึกแล้วก็แก้ไข หรืออาการเหล่านั้นเป็นวิบากที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นพอดีเพราะอยู่ปกติไม่ปวดแต่พอเข้าปฏิบัติปุ๊บวิบากอกุศลส่งผลมาให้ต้องปวดท้องมีความทุกข์เกิดขึ้นให้เห็นชัดก็ได้..ซึ่งถ้ากำหนดได้ก็เป็นเรื่องดี เพราะหน้าที่ของเราเป็นผู้ดูและให้กำหนดรู้เท่านั้นเอง ..อย่าไปกลัว มีอะไรมาก็ให้รู้ ดีกว่าไม่มีอะไรมาให้รู้

 
ส่วนเรื่องทานน้ำมากนั้นอาจเป็นเพราะปกติไม่เคยสนใจหรืออาจจะคุยมากหรือทำงานเพลินจนลืมทาน จึงลืมสังเกตว่าตนเองปากแห้งคอแห้ง ในพอมาอยู่ในห้องปฏิบัติที่ไม่รู้จะทำอะไรก็อาจรินน้ำดื่มดีกว่าอยู่เฉยๆ เพื่อหางานมากำหนดก็ได้ ..ซึ่งไม่ถูกต้อง
 
TOP
 
 
ถาม เวลาปฏิบัติแล้วเจอนิวรณ์ เช่น ง่วง จะกำหนดอย่างไรครับ? เมื่อเกิดง่วงปุ๊บเราก็รู้แล้วไปนอนเลยหรือเปล่า?

 
ตอบ เป็นเรื่องธรรมดาของคนเราพอหนาวมากก็ง่วง ร้อนจัดก็ง่วง ว่างมาก็ง่วง เรียนไม่รู้เรื่องก็ง่วง เพราะถีนะมิทธะนั้นพร้อมที่จะครอบคลุมเราตลอดเวลา เรียกได้ว่าเป็นเงาของชีวิตที่พร้อมจะมาตอนที่จิตไม่มีความตื่นตัวเบิกบาน และการไปเข้าปฏิบัตินั้นก็ไม่มีเรื่องอะไรให้เบิกบานและก็มีงานทำน้อย ชีวิตปกตินั้นทำงานสารพัดจึงมีความตื่นตัวจึงหลับไม่ได้ แต่พอว่างปุ๊บก็จะหลับจึงเป็นเรื่องธรรมดา

 
เวลาที่ปฏิบัติเมื่อเกิดความง่วงนั้น เราต้องดูความสมควรของเรา เช่น ง่วงตอนสี่ทุ่มก็ไม่ต้องไปฝืนล้างหน้าแต่ให้นอนไปเลยเพราะเป็นเวลาที่สมควรนอน แต่ถ้าตื่นเช้ามาพอทานข้าวเสร็จก็ง่วงอีกแล้ว อย่างนี้ต้องพิจารณาแล้วว่าไม่ควรนอน เมื่อเรารู้ว่าเราทานอาหารเสร็จแล้วและนั่งอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ นั้นมันเปิดโอกาสให้ถีนะมิทธะเข้ามาได้คือง่วง จึงต้องกำหนดรู้สึกคือนามข้าไปรู้ นามจิตรู้แล้วว่าขณะนี้เราถูกครอบงำด้วยถีนะมิทธะเริ่มง่วงแล้ว พอเริ่มง่วงแล้วก็รู้และแก้ไข

 
เมื่อพระโมคคัลลานะท่านง่วง พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ให้แก้ไขโดยการขยับตัว หรือเปลี่ยนอิริยาบถไป ถ้ายังไม่หายง่วงก็ให้หาไม้แยงหู ถ้ายังไม่หายอีกก็ไปล้างหน้า ถ้ายังไม่หายอีกก็ออกไปเดิน ถ้ายังไม่หายอีกทีนี้ก็ให้นอนไปเลย เพราะถีนะมิทธะมีสภาพที่งอมมากแล้วก็อย่าไปทนมัน แต่ถ้าเพิ่งเริ่มง่วงนิดหน่อยก็ให้เปลี่ยนจากนั่งไปเดิน เพราะรูปเดิน รูปยืน ก็กำหนดวิปัสสนาได้ไม่ใช่กำหนดรูปนั่งอย่างเดียว
 
 
 
ถาม เวลาที่สมควรจะนอนเช่นตอนกลางคืนนั้นมีความกลัวผีเลยนอนไม่หลับ จึงส่งผลมาถึงกลางวันทำให้ง่วง จะทำอย่างไรดีครับ?

 
ตอบ ทุกคนมีความกลัวผีเป็นทุนเพราะเราถูกหลอกมาตั้งแต่เด็กว่ามีผีหลอก มีตุ๊กแกกินตับ แล้วเราก็ดูหนังผีที่เขาสร้างให้น่ากลัว จิตของเราก็เลยเก็บข้อมูลของผีหลอกเอาไว้ เราจึงต้องมาทำความรู้จักผีกันก่อน ..ผีคือซากศพ และอีกหน่อยเราก็เป็นผี บอกตัวเองเลยว่าในที่สุดวันหนึ่งข้างหน้าไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้เราต้องเป็นผี เราจะหนีความเป็นผีไปไม่ได้ แต่สิ่งที่เรากลัวก็คือพวกโอปปาติกะ ซึ่งกลัวว่าจะมาทำร้ายหรือมาหลอกเรา

 
ขอให้ทำความเข้าใจเรื่องภพภูมิว่าผู้ที่อกุศลนำเกิดนั้นจะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานต่างๆ และสัตว์ในนรก เปรต อสุรกาย ที่เรียกว่าโอปปาติกะ ซึ่งชีวิตของเขาเหล่านี้เขาก็มีทุกขเวทนามากมายทับถมไม่มีเวลามาหลอกหลอนใครหรอก เป็นชีวิตที่ต้องเสวยทุกขเวทนาจากอำนาจกรรมอยู่ตลอดเวลาจึงไม่มีเวลาเหลือมาแลบลิ้นปลิ้นตาหลอกใคร แต่ที่เราจำภาพไว้ก็คือภาพจากในหนัง ในพวกเปรตนั้นมีเพียงชนิดเดียวที่รับส่วนกุศลได้คือ ปรทัตตูปชีวิกเปรต ซึ่งชีวิตของเขาก็มีความหิวอยู่ตลอดเวลา ให้ลองนึกถึงความจริงว่า คนที่กำลังหิวมากๆ จะมาแกล้งหลอกใครไหม? ไม่หรอก

 
หรืออย่างอสุรกายที่เกิดด้วยอำนาจของความผูกพยาบาทมากจะมีความหงุดหงิดมาก มีการทำร้ายตนเองด้วยมือของตนเองอย่างหยุดไม่ได้เหมือนคนตีอกชกหัวเพราะเป็นไปตามอำนาจกรรม เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจะมาหลอกใครได้ไหม? ไม่ได้ หรืออย่างพวกสัตว์นรกก็ยากที่จะมาหลอกได้เพราะเป็นภูมิที่อยู่ไกลจากเรามากเหลือเกินลึกยิ่งกว่าใต้ดินลงไปอีก และก็ขอให้ถามตนเองว่าเราหวังร้ายหรือหวังดีกับผู้อื่นมากกว่ากัน? ถ้าเราหวังดีกับผู้อื่นมากก็ไม่ต้องไปกลัวอะไร เพราะเรารู้จักชีวิตของเราดีว่าเราเป็นคนอย่างไร ชั่วย่อมไหลไปหาชั่ว ดีย่อมไหลไปหาดี และในขณะปฏิบัติวิปัสสนากำลังทำความดี..อย่ากลัวผีเด็ดขาด ให้กลัวว่าไม่ได้ปัจจุบันดีกว่า

 
ถาม ทราบแล้วว่า เป็นเพราะใจหลอกตัวเอง แล้วอย่างนี้จะกำหนดอย่างไรเพื่อจะตัดความรู้สึกนี้ออกไป?

 
ตอบ ก็ต้องมีเทคนิกสร้างความกล้าด้วยการพิสูจน์ พอรู้สึกกลัวก็หันไปพิสูจน์เลย ถ้าหากเจอก็ให้แผ่เมตตาเพื่อให้เขาไป ถ้าหากเขายังอยู่ก็ลองคุยกับเขาดู บอกไปเลยว่า เราเป็นรุ่นพี่เพราะเคยเป็นผีมาก่อนส่วนเขาเป็นแค่รุ่นน้องเท่านั้น ...ให้หันไปคุยเหมือนทักเพื่อนก็ได้ กล้าเสียอย่าง กลัวไปแน่
 
TOP
 
 
ถ้าไม่มีใครถามอะไรแล้วก็จะขอย้ำความสำคัญว่า ขอให้เข้าใจว่าตอนไปปฏิบัตินั้นไปทำอะไร ต้องไปใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ให้ตั้งใจเอาความรู้จากตรงนี้ไปใช้ เมื่อเตรียมพร้อมจากบ้านแล้วก็ปวารณาเลยว่า จะต้องไปเข้าปฏิบัติแล้ว เราจะไปละกิเลสความเห็นผิดต่างๆ หรือไปเพิ่มพลังสติและปัญญา ..เป็นการมีมนสิการไปแล้วก็มุ่งตรงไป พอไปถึงก็ทำตามระเบียบของสำนักให้เรียบร้อย

 
เมื่อเข้าห้องไปแล้วก็ให้ระลึกขึ้นว่า มองย้อนเข้าไปสองพันห้าร้อยกว่าปีนั้นพระสุคตเจ้าท่านอุบัติขึ้นมาและโปรดเวไนยสัตว์มากมายมีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นต้นได้บรรลุดวงตาเห็นธรรมสิ้นโคตรสิ้นชาตินั่นก็คือสิ้นทุกข์ บัดนี้ สองพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ดปีล่วงมาแล้ว ถ้าหากเราเวียนว่ายตายเกิดมาเป็นมนุษย์ก็เป็นยี่สิบห้าชาติแล้วที่เรามีชีวิตมา ถ้าหากเราไม่รีบทำ พ.ศ.ที่มีมากชาติก็ยิ่งมีมาก ยิ่งชาติมีมากทุกข์ก็มีมากตามไปด้วย

 
ฉะนั้น แม้กาลจะล่วงผ่านไปมากแล้วแต่วันนี้เราขอเดินตามคำสั่ง คือ การกำหนดรู้ และตั้งใจอธิษฐานเลยว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะชำระความโง่ของเรา จากนั้นก็กำหนด ..รูปนั่ง..ไปเลย

 
ก็ขอให้พยายามทำไป ความสำเร็จขึ้นอยู่ที่ใจ เหนือสิ่งใดคือใจต้องสู้ การเรียนเราพร้อมพรั่งพรู เหลือแต่สู้คือรู้ทุกข์ให้ได้ เพราะทุกข์เป็นของที่ให้เรากำหนดรู้ และบางครั้งในการดูรูปนามก็ไม่ต้องไปตามดูละเอียด เช่น เดินแล้วก็เห็น กำหนดนามเห็น สิ่งเล็กสิ่งน้อยก็ไปตามกำหนดอยู่ถี่ๆ ซึ่งเป็นการหาอารมณ์ ถ้าเรานั่งอยู่แล้วจะไปเดินเพื่อแก้ไขทุกข์ เราต้องมีการเดินเป็นประธานของอารมณ์ โดยจะต้องกำหนดรู้สึกในการเดินนั้นไป บางครั้งอาจเห็นอะไรเพราะห้ามการเห็นไม่ได้แต่ไม่ต้องไปใส่ใจพิจารณาว่ารายละเอียดคืออะไร เพราะจะทิ้งไปจากอิริยาบถที่เป็นฐานที่ตั้งของสติ

 
แต่ละอิริยาบถนั้นจะสามารถทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ จึงต้องมองอิริยาบถนั้นให้ทะลุคือแจ้งในทุกข์ โดยกลับมาดูที่ฐานให้ได้
 
 
 
ถาม อะไรที่เกิดขึ้นกับเรา ให้เราทำงานโดยกำหนดรูปและนาม แต่สิ่งที่มันเกิดกับเราไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือเวทนาต่างๆ นั้นก็สงเคราะห์เป็นนามได้ แต่เห็นอาจารย์เน้นว่า ถึงแม้จะเป็นนามก็ตามแต่จะต้องกลับมาสู่อิริยาบถกำหนดรูปซึ่งเป็นอิริยาบถบรรพ จึงสงสัยว่าตรงนี้สำคัญอย่างไร?

 
ตอบ สำคัญตรงที่ว่า ในการปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึงให้มีสติและปัญญาตามฐานใดฐานหนึ่งนั่นเอง ดังนั้น จากคำถามที่ถามมานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นส่วนมากเป็นการถามถึงเรื่องของในรูปในนาม ซึ่งรูปนามเป็นเพียงตัวให้กำหนดเท่านั้นเอง ไม่ใช่ให้ไปรู้จักมากมายเลย เพราะการไปรู้จักมากมายนั้นคือขั้นปริยัติ แต่ตอนปฏิบัตินั้นให้ไปดูว่าสิ่งนี้เป็นรูปหรือเป็นนามเท่านั้น

 
การปฏิบัติสติปัฏฐานสี่นั้นสามารถบรรลุได้หมด เพราะในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็มีเวทนา มีจิตตา มีธัมมาอยู่ในนี้ ในเวทนาก็มีกาย มีจิต มีธัมมา ทั้งสี่ฐานนี้ต่างก็มีอยู่ด้วยกันแต่อะไรจะเด่นกว่ากันเท่านั้นเอง เหมือนกับเราคนเดียวที่ยืนอยู่ตรงนี้มีทั้งจิต เจตสิ และรูป แต่การประชุมกันเป็นกลุ่มก้อนคือฆนสัญญาทำให้ไม่สามารถกระจายได้ ท่านจึงวางหลักการไว้ให้ว่าในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานกำหนดกายในอิริยาบถทั้งสี่ ภาษาบาลีเรียกว่า กาเย กายา อนุปัสสี การกำหนดกายในกาย คือ ในกายนี้มีการเดิน ยืน นั่ง นอน รวมเรียกว่าอิริยาบถ ๔

 
ในขณะนี้อิริยาบถอะไรล่ะที่กำลังปรากฏขึ้นกับเรา คือ ..นั่ง.. นั่งจึงเป็นปัจจุบันอารมณ์ เมื่อขณะนั่งอยู่ก็รู้สึกตัวในอาการหรือในท่านั่งนั้นว่า เป็นรูป ผู้ปฏิบัติใหม่ๆ ทำความรู้สึกว่าอาการนี้เป็นรูป ไม่ใช่ตัวใครคนใดมานั่ง แต่ในขณะนั่งนั้นมันมีอารมณ์เกิดขึ้นได้ เช่น คัน อาการ(นั่ง)นี้เกิดอารมณ์(คัน) เมื่ออารมณ์ชัดก็กำหนด นามคัน ..นามคันนี้เกิดบนฐานของกาย ฉะนั้นเมื่อเราแก้ไขแล้วก็ต้องกลับมาที่ฐานดูที่อาการ เพราะอาการท่านตั้งอยู่ในลักษณะใดให้กำหนดในอาการนั้น แต่ในภาษาบาลีไม่มีเลยที่จะบอกว่า อารมณ์ท่านตั้งอยู่ใลักษณะใดให้กำหนดอารมณ์นั้น ..แต่ท่านให้รู้อารมณ์ทันอารมณ์เพื่อกันอภิฌชาและโทมนัส แล้วก็อยู่ในอาการเพื่อทำลายความวิปลาส

 
ความสำคัญก็อยู่ตรงที่ว่า เมื่อเกิดไปนึกอะไรขี้นมาแล้วก็กำหนดนามฟุ้งหรือนามรู้ พอนามฟุ้งหรือนามรู้แล้วก็กลับมาที่เดิม เพราะถ้าไม่กลับมาที่เดิมมันก็จะเป็นการคิดต่อไปอีกแล้ว จากรู้เป็นคิด เช่นเรารู้พระอภิธรรมไปเราก็เอาไปคิดแล้วว่ามันควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่วิปัสสนาห้ามคิด จึงต้องกลับมารู้สึกตัว ให้กลับมาดูรูปที่เป็นปัจจุบันซึ่งเป็นของหยาบที่ดูได้ง่ายกว่าสำหรับผู้เริ่มต้น
 
TOP
 
 
วันนี้ได้รับฟังกันมามากแล้วก็ขออนุโมทนากับทุกท่าน และเรามากล่าวคำอธิษฐานด้วยกันโดยให้นึกถึงชีวิตของตนเอง เราชื่ออะไร.. เกิดมากี่ปีแล้ว.. วันนี้เราพร้อมใจกันขอประนมมือวันทาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความเคารพนอบน้อมอย่างสูงสุด ที่พระองค์ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระญาณอันหยั่งรู้ทั่วไปในเรื่องของทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรคอันพระองค์ประจักษ์แล้ว และทรงพระมหากรุณาธิคุณนำธรรมโอสถต่างๆ มาให้เราได้ศึกษาเล่าเรียน เยียวยาบำบัดความเห็นผิดที่มีอยู่ในชีวิตของเรามาตราบเท่าทุกวันนี้

 
ข้าพเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมก้มกราบบูชาระลึกและเทิดพระคุณไว้เหนือเศียรเกล้า พร้อมทั้งกล่าวคำว่า " อะระหังสัมมา สัมพุทโธ ภควา ....."

 
พระพุทธบูชา พระธรรมะบูชา พระสังฆบูชา ข้าพเจ้าได้มีโอกาสมาศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องชีวิตตามการตรัสรู้ของพระองค์ ข้าพเจ้าได้มีความเห็นถูกมากขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องของชีวิต กรรม และผลของกรรม ทำให้ข้าพเจ้านั้นเกิดหิริ โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาปสะดุ้งกลัวต่อผลบาปทั้งหลาย ทำให้ข้าพเจ้าไม่กล้าละเมิดล่วงศีลและทำมิจฉาทิฏฐิให้เกิดขึ้นในชีวิต ประคองกายใจให้มีกุศลเกิดขึ้นเนืองๆ พร้อมทั้งบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และศึกษาเล่าเรียนเพื่อให้เกิดปัญญาบารมีมาจนทุกวันนี้

 
ขอจงได้เป็นพลวปัจจัยทำให้ชีวิตของข้าพเจ้าทั้งในชาตินี้และชาติต่อๆ ไป ขอได้มีโอกาสศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม สร้างปัญญาบารมีเพื่อไปสุดทางแห่งทุกข์คือมรรคผลนิพพานตามเจตนาของข้าพเจ้า ขออุปสรรคนานาประการ จงเบาบางจางหายไปจากชีวิตของข้าพเจ้า ขอทิฏฐิของข้าพเจ้าจงประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิอย่าได้มีทิฏฐิอันวิบัติเห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ขอผู้ที่เข้ามาสู่ข้าพเจ้าและที่ข้าพเจ้าจะไปพบทั้งหลายเป็นผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ มีเมตตากรุณาพร้อมที่จะช่วยเหลือข้าพเจ้าให้ไม่หลงทางในวัฏฏะสงสาร ขอให้จิตใจของข้าพเจ้าสามารถมีอิสระจากเครื่องพันธนาการคือโลภะ โทสะ และโมหะ ได้โดยเร็วเทอญ

 
และข้าพเจ้าขอตั้งใจว่า เมื่อข้าพเจ้ามีเวลาและมีโอกาส ข้าพเจ้าจะรีบปฏิบัติขัดเกลากิเลส สร้างเหตุแห่งปัญญา ใฝ่หาคุณธรรม นำชีวิตให้เกิดความรู้ ตามหลักสติปัฏฐานสี่สุดความสามารถ

 

กุศลกรรมใดๆ ที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตข้าพเจ้า ข้าพเจ้าทั้งหลายขอแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ขอให้ท่านทั้งหลายจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย ขอจงมีความสุขกายสุขใจ มีสติมีปัญญานำพาชีวิตของตนให้รอดพ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ.

 

TOP   HOME

 

 Web Link ธรรม
 84000 พระธรรมขันธ์ ทศชาติชาดก