5.4     ข้อมูลจากการสัมภาษณ์

 

                    ในที่นี้เป็นการสอบถามความคิดเห็นใน 3 ประเด็น คือ หลักการและวิธีการที่ใช้สอน ความเกี่ยวข้องกับคัมภีร์ และประโยชน์ที่ได้จากการปฏิบัติ

                    พระอาจารย์ อำนวย  ฉันทโก พรรษา 51 ปี  ศึกษาพระอภิธัมมัตถสังคหะ หลักสูตรของพระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ  เริ่มปฏิบัติที่สำนักวิปัสสนาอ้อมน้อย ตั้งแต่ปี 2521 และเป็นอาจารย์สอนกรรมฐานที่สำนักนี้ตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปัจจุบัน กล่าวถึงหลักการและวิธีการที่ใช้อยู่ว่า กำหนดโดยใช้รูป-นาม นำหลักการมาจากมหาสติปัฏฐานเป็นหลัก เลือกหมวดอิริยาบถและสัมปชัญญะ ในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เนื่องจาก 2 หมวดนี้เป็นเหตุของวิปัสสนาโดยตรง เป็นของหยาบ ศึกษาง่าย เพราะมีอยู่ในตัวเองใช้ในการฝึกจิตได้ง่าย ผลการฝึกจิตอาจแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ การหยุดภพของตนเอง หรือไม่ก็เป็นการต่อภพก็ได้ การหยุดภพเกิดจากการกำหนดรู้ความจริงของสิ่งทั้งปวง ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่มีตัวตน  แต่จะเป็นการต่อภพได้ถ้ามีเจตนาที่มีกิเลสแฝงอยู่ ยังไม่เห็นภัยของวัฏสงสาร เช่น อยากได้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น นั่นคือ การต่อภพตนเองออกไปอีก ทั้งนี้ขึ้นกับความแยบคายในการพิจารณาจุดมุ่งหมายของตนเอง อุปสรรคอย่างหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คือ ภาษา ความไม่เข้าใจภาษาและความหมาย ทำให้มีการตีความคำสอนออกไปหลายแง่หลายมุม เมื่อไปอ่านแล้วก็เลือกเฉพาะแง่มุมที่ตรงกับความเห็นของเราเท่านั้น การเรียนปริยัติจึงมีความสำคัญในการสร้างความเห็นถูกเป็นเบื้องต้น

 

                    สำหรับเรื่องคัมภีร์นั้น พระอภิธัมมัตถสังคหะจะบอกถึงโครงสร้างการกระทำของเรา ไม่ว่าเราจะทำอะไร คิดอะไร หรือพูดอะไร ความคิดและพฤติกรรมนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุใด มีผลอย่างไร และสิ้นสุดลงเพราะอะไร  สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์ในการนำไปเจริญวิปัสสนา คือ ผู้เรียนอภิธรรมแล้วมาเจริญวิปัสสนา จะตัดสินสภาวธรรมทั้งความคิดและพฤติกรรมของตนเองได้เร็ว มีหลักเกณฑ์ ความสงสัยเรื่องการทำงานระหว่างกายกับจิตลดลง  ส่วนวิสุทธิมรรคนั้นจะใช้หมวดปัญญานิเทศในการอธิบายขั้นตอนการเกิดปัญญา ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิบัติไประยะหนึ่งแล้ว คือ จะใช้ความรู้ทั้งในมหาสติปัฏฐานสูตร พระอภิธัมมัตถสังคหะและวิสุทธิมรรคผสมผสานกันในการแนะนำอบรมกรรมฐาน

 

                    ส่วนประโยชน์ที่ได้มีทั้งประโยชน์จากการเรียนและประโยชน์จากการปฏิบัติ จากการเรียน คือ สามารถปรับความเห็นของเราให้ตรงกับความจริงระดับหนึ่งได้ เช่น เรื่องวิถีจิต กรรม ภพภูมิ มีประโยชน์ คือ เราไม่ทำชั่ว เรียนรู้ว่าการกระทำใดเป็นอกุศล ทำให้ชีวิตหมุนไปต่ำ เราไม่อยากได้ เราก็ไม่ทำ คนเรารักตัว กลัวทุกข์ เมื่อได้เรียนแล้วก็ตั้งเข็มทิศใหม่ เคยฆ่าสัตว์ ยิงนก ตกปลา เพราะความสนุกไม่ได้นึกถึงผล เรียนแล้วก็ไม่ทำอีก ผล คือ ความเป็นอยู่สบาย มีโอกาสสะสมบุญกุศลได้มาก เลือกทำกุศลได้มากกว่าผู้ที่ไม่รู้ กุศลที่ทำนั้นก็มีกำลังมากด้วย  ส่วนประโยชน์ของการปฏิบัติมุ่งถ่ายถอนความเป็นตัวตนเพื่อออกจากวัฏสงสารเป็นสำคัญ

 

                    พระอาจารย์ วันทัน  ธัมมรักขิตฺต พรรษา 51 ปี เป็นพระภิกษุชาวเวียดนาม ศึกษาพระอภิธัมมัตถสังคหะจนจบชั้นสูงสุด  ท่านให้ความเห็นว่า เดิมเคยศึกษาวิธีการของวัดมหาธาตุ ฯ อยู่ก่อน แต่ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ เมื่อมีโอกาสศึกษาพระอภิธรรมที่วัดระฆังโฆสิตารามเกี่ยวกับสภาวธรรมพื้นฐาน เรื่องจิต เจตสิก รูป นิพพานแล้ว เกิดความเลื่อมใสในเหตุผล ส่วนใหญ่จะได้แนวความคิดมาจากอาจารย์แนบ  มหานีรานนท์ ศึกษากับท่านตั้งแต่ปี พ..2512 ยอมรับว่า อาจารย์แนบมีลักษณะเด่นในการตั้งปัญหา และสามารถแสดงการสงเคราะห์หัวข้อองค์ธรรมต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ สามารถนำไปปฏิบัติได้ดี สำหรับการปฏิบัตินั้น อาจารย์วันทัน ฯ จะศึกษาจากมหาสติปัฏฐานสูตรและวิสุทธิมรรคเป็นหลัก เนื้อหาในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้นจะเกี่ยวกับกรรมฐานโดยตรง สำหรับวิสุทธิมรรคเป็นคัมภีร์เพื่อการปฏิบัติ กล่าวถึงตั้งแต่พื้นฐานของ ศีล สมาธิ และปัญญา  ถ้าเป็นวิปัสสนากรรมฐานก็จะใช้ 2 นิเทศ คือ ศีลนิเทศ กับปัญญานิเทศ

 

                    ประโยชน์ที่ได้จากการปฏิบัตินั้น เชื่อว่าการปฏิบัติช่วยทรงไว้ ซึ่งพระศาสนาอย่างได้ผลมากกว่าการเรียนอย่างเดียว ความเลื่อมใสอย่างแท้จริงมาจากประสบการณ์ทางศาสนาขณะปฏิบัติเป็นส่วนมาก เมื่อพัฒนาตนได้ นอกจากจะได้กุศลส่วนตนแล้ว สังคมก็ไม่ต้องเดือดร้อนเพราะตัวเราด้วย เช่น เรารักษาศีล ไม่ฆ่าสัตว์ ก็เพื่อกุศลของตน  ผลพลอยได้ คือ สัตว์อื่นทั้งหลายจะปลอดภัยจากเราด้วย และในขณะเจริญกรรมฐาน ขณะนั้นมีกายสุจริต ไม่ได้เบียดเบียนใคร ผู้อื่นก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะเรา เป็นต้น

 

                    พระมหาณรงค์ศักดิ์  ฐิตญาโณ  พรรษา 38 ปี  ศึกษาพระอภิธัมมัตถสังคหะจนจบชั้นสูงสุด ท่านให้ข้อคิดเห็นว่า ความรู้ในปริยัติยังไม่สามารถละกิเลสได้ เพียงทำให้ความสงสัยลดลง แต่ไม่หมดไปเหมือนได้เจริญวิปัสสนา เมื่อเริ่มเรียนก็เริ่มรู้ถึงความรู้สึกตนเอง รู้กิเลสตนเอง กิเลสเหล่านี้มีอยู่แล้ว แต่เราคิดไม่ถึง ไม่เคยกลับไปมอง รู้แต่ว่าเป็นความรู้สึกของฉัน ไม่รู้ว่าตัวโทสะ โมหะ ดีหรือไม่ดี ไม่เคยแยกแยะไกลขนาดนั้น พอเรียนแล้วก็รู้ว่าขณะนี้เกิดโทสะ ขณะนี้เกิดโมหะ ประโยชน์ คือ ทำให้มีการยับยั้งชั่งใจได้ระดับหนึ่ง ผลที่ตามมา คือ จะมองผู้อื่นด้วยความเมตตา มีความกรุณามากขึ้น เพราะรู้ว่าเราต้องการอย่างไร เขาก็ต้องการอย่างนั้นเหมือนกัน

 

                    ด้านการปฏิบัตินั้น ท่านเลือกปฏิบัติแบบอานาปานสติ นำมาจากวิสุทธิมรรค คือ นับลมหายใจเข้า 1 ออก 2 เข้า 3 ออก 4 เป็นต้น  วิธีการนี้ปรากฏในมหาสติปัฏฐานสูตรด้วย  ปฏิสัมภิทามรรคด้วย จะยึดคัมภีร์เป็นหลัก เรื่องรูป-นามก็เป็นสายหนึ่งในสติปัฏฐานในอิริยาบถบรรพ พระพุทธศาสนาก็ไม่ได้บอกว่าต้องปฏิบัติแบบนี้เท่านั้น อยู่ที่ความเหมาะสมและศักยภาพของบุคคล ผู้ที่เรียนสามารถเลือกได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้เรียน ปริยัติจะน้อมนำไปสู่การปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติโดยไม่มีปริยัติควบคุมแล้ว ทิฏฐิก็เข้าแทรกได้ง่าย สำหรับการปฏิบัตินั้น คิดว่า การไม่รู้ยังดีกว่าเข้าใจผิด 

                    เพราะถ้าปฏิบัติผิดไปแล้ว ใครจะมาตัดสินให้เราได้ ปริยัติมี 2 ระดับ คือ ปริยัติในปริยัติ และปริยัติในปฏิบัติ

ปริยัติในปริยัติก็คือ  การเรียนเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างที่เราเรียนกัน คำสอนในคัมภีร์พระพุทธศาสนานั้น ถือว่าเป็นอันติมะ คือ เป็นที่สุดแล้ว จะพัฒนาให้ดีกว่านี้ไม่ได้ เพียงแต่ทรงของเดิมไว้ให้มากที่สุด

ส่วนปริยัติในปฏิบัติ อาศัยความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ในทฤษฎีบอกให้ใส่สารอะไรลงไป เราก็ใส่ตามนั้น ไม่ต้องสงสัยว่าจะได้ผลหรือไม่ อย่างไร เพียงแต่ใส่สารตามที่บอก แล้วคอยดูผลเท่านั้น เช่นเดียวกัน ถ้าปฏิบัติได้อย่างที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ ผลย่อมเกิดขึ้นตามเหตุที่ใส่เข้าไป ไม่ใช่คิดเอาเองว่าทำอย่างนั้นดีกว่า หรือทำอย่างนี้ดีกว่า เพราะนั่นจะเป็น ธรรมของข้าพเจ้า มากกว่า  ไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า

 

                    กล่าวโดยสรุปแล้ว สำนักวิปัสสนาอ้อมน้อย ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มบุคคลผู้มีพื้นฐานความรู้ในพระอภิธรรมมาก่อน อันมีอาจารย์บุญมี  เมธางกูร เป็นต้น เคยศึกษาจนได้เหตุผลและความเกี่ยวเนื่องของสภาวธรรม ทั้งปรมัตถ์ธรรมและบัญญัติธรรมทั้งหลาย และรู้ถึงภัยของความเข้าใจผิดในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ จึงค่อนข้างให้ความสำคัญต่อการเรียนควบคู่ไปกับการปฏิบัติ จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ คณะบุคคลดังกล่าวได้เปิดการสอนพระอภิธัมมัตถสังคหะสำหรับผู้สนใจทั่วไป จะศึกษาก่อนหรือไม่ศึกษาก็ได้ แต่ทั้งนี้การเรียนถึงสภาวธรรมในพระอภิธัมมัตถสังคหะ เป็นการสร้างปัญญาขั้นพื้นฐานเพื่อเป็นเครื่องรองรับการปฏิบัติทั้งสมถะและวิปัสสนาต่อไป

 

                    แนวการสอนของสำนักวิปัสสนาอ้อมน้อย ใช้รูป-นาม เป็นอารมณ์กรรมฐาน นำมาจากหมวดกายานุปัสสนาในมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นหลัก ในหมวดกายานุปัสสนาเลือกอิริยาบถบรรพและสัมปชัญญะบรรพ เพราะเห็นว่า อิริยาบถ 4 เป็นของหยาบ สังเกตง่าย และมีอยู่ตลอดเวลา เมื่อสังเกตอิริยาบถใหญ่ได้ อิริยาบถย่อยในสัมปชัญญะบรรพก็จะสังเกตง่าย เน้นให้ใช้ความรู้สึกจริง ไม่ให้ภาวนา โดยปฏิบัติให้อยู่ในขอบเขตของหลัก 15 ข้อ ซึ่งมีทั้งสิ่งที่ให้ทำ และสิ่งที่ห้ามทำ ไม่กำหนดระยะเวลาตายตัว ไม่บังคับท่าทาง ให้ใช้อิริยาบถตามธรรมชาติของตนเองมากที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาต่อผู้ปฏิบัติใหม่ เนื่องจากผู้ปฏิบัติใหม่อาจจะมีความรู้สึกว่าการใช้ชีวิตในห้องกรรมฐานควรจะมีความพิเศษจากชีวิตประจำวัน เช่น ควรจะทำกิจวัตรช้าลง ค่อย ๆ เดิน ค่อย ๆ หยิบ เป็นต้น  ในส่วนนี้ผู้สอนจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติให้ถูกต้อง เนื้อหาการอธิบายนำมาจากมหาสติปัฏฐานสูตร พระอภิธัมมัตถสังคหะ และวิสุทธิมรรค ผสมผสานกัน

                    ประโยชน์ของการปฏิบัติ คือ การพัฒนาความระลึกรู้สึกตัวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนหนึ่งคือ การตัดความรู้สึกได้เร็ว ไม่ยืดถือคร่ำครวญกับสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมากเกินไป ทั้งความรู้สึกที่ดีและความรู้สึกที่ไม่ดี

 


แนวกรรมฐานของสำนักวิปัสสนาอ้อมน้อย  หมวดอิริยาบถและหมวดสัมปชัญญะ  การสอบอารมณ์  ข้อมูลจากการสัมภาษณ์   กลับหน้าสารบัญ