5.3.2   หลักการพิจารณาหมวดอิริยาบถ และหมวดสัมปชัญญะ

 

                   การเจริญวิปัสสนาที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะกล่าวเฉพาะอิริยาบถบรรพกับสัมปชัญญะบรรพในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งสำนักวิปัสสนาอ้อมน้อยใช้หมวดทั้ง 2 นี้เป็นหลักในการสอน โดยประยุกต์ให้เข้ากับวิธีการทั้ง 15 ข้อ ของ อาจารย์แนบ  มหานีรานนท์ เพื่อสะดวกแก่ผู้ที่เริ่มปฏิบัติใหม่จะตามพิจารณาเข้าถึงเหตุผลตามความจริงได้

 

                    ต่อข้อถามที่ว่า เหตุใดจึงยอมรับหลักการทั้ง 15 ข้อ มาปฏิบัติที่ตนเอง พระอาจารย์วันทัน  ธัมมรักขิตฺต ให้ความเห็นว่า เมื่อพิจารณาแล้ว ทั้ง 15 ข้อเป็นการนำหลักการมาจากมหาสติปัฏฐานสูตรนั่นเอง นำมาอธิบายอีกลักษณะหนึ่ง แม้จะมิได้บอกไว้ตรง ๆ แต่ผู้ที่สามารถรวบรวมข้อปฏิบัติมาจัดลำดับจากง่ายไปจนยากขึ้นนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจหลักการในมหาสติปัฏฐานอย่างลึกซึ้ง เคยประจักษ์แจ้งสภาวธรรมขั้นละเอียดตามหลักฐานที่กล่าวไว้ในพระสูตรมาแล้วด้วยตนเอง และต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ มีความชำนาญในการสังเกต เคยพบอุปสรรคของการปฏิบัติทั้งที่ตนเองเปรียบเทียบกับของบุคคลอื่น และเคยแก้ไขอุปสรรคลักษณะต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกันมาก่อน จึงจะสามารถประมวลอุปสรรคทั้งหมดออกมาเป็นข้อต่าง ๆ ดังกล่าว 

 

อุปสรรคในที่นี้คือ ตัณหา ทิฏฐิ มานะ ที่แสดงออกได้อย่างหลากหลาย ทั้งอย่างหยาบที่พอสังเกตได้ (ในข้อต้น ๆ) และอย่างละเอียดที่ไม่อาจสังเกตได้ (ในข้อท้าย ๆ)

 

                    ท่านคิดว่าหลักการของ อาจารย์แนบ มีเหตุผลรัดกุมเพียงพอ และตรงกับหลักฐานอยู่มาก เช่น ในข้อที่ว่าผู้ปฏิบัติ ห้ามรู้สึกว่าตนทำกรรมฐาน  บางคนอาจจะสงสัยว่ามาปฏิบัติแล้ว ไม่ให้ทำกรรมฐานแล้วจะให้ทำอะไร แรก ๆ ท่านเองก็สงสัยเหมือนกัน ก็มีเหตุผลว่า ในวิสุทธิมรรคมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า ถ้าคิดว่าตนเองเป็นผู้เจริญกรรมฐานแล้ว ความคิดนั้นนั่นแหละจะเป็นที่อาศัยของตัณหา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้วิจารญาณขั้นละเอียดในการสังเกตจึงจะเข้าใจ จะนำไปสอนผู้ปฏิบัติใหม่ยังไม่ได้ ในการแนะนำอบรมจึงควรบอกตามระดับความรู้ความเข้าใจของผู้ปฏิบัติเป็นหลัก ยังไม่จำเป็นต้องบอกเหตุผลทั้งหมด

 

 

                                เมื่อผู้ปฏิบัติได้ศึกษาถึงภูมิวิปัสสนา จนมีความเข้าใจนามและรูปแล้ว ก็พึงกำหนดนามและรูปในอิริยาบถบรรพดังต่อไปนี้คือ

 

                    ในเวลาที่นั่งอยู่ ก็ให้มีความรู้สึกตัวว่าดู รูปนั่ง 

                    เวลานอนก็ให้มีความรู้สึกตัวว่าดูรูปนอน  

                    เวลายืนก็ให้มีความรู้สึกตัวว่าดูรูปยืน  

                    ขณะที่เดินอยู่ก็ให้มีความรู้สึกตัวว่าดูรูปเดิน

 

                ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความรู้สึกตัวในอิริยาบถใหญ่ เช่น การยืน เดิน นั่ง นอน เช่นนี้อยู่เสมอ

 

                    การที่ให้มีความรู้สึกตัวเช่นนี้ ก็เพื่อแยกรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน ออกจากกันด้วยการเปรียบเทียบให้รู้ว่า เป็นคนละส่วน เป็นคนละรูป ถ้ากำหนดเพียงรูปเฉย ๆ ไม่มียืน เดิน นั่ง หรือนอน กำกับอยู่ด้วย จะเห็นว่าเป็นรูปเดียวกันไปหมด โดยสำคัญว่ารูปนั่งก็คือ รูปเดียวกันที่ไปยืน เดิน และเข้าใจว่า นั่ง นอน ยืน เดิน เป็นอาการของรูป ส่วนตัวจริงของรูปคือรูปเดียวกัน ความเข้าใจเช่นนี้จะไม่สามารถกระจายฆนสัญญา ที่เห็นว่าเป็นกลุ่มก้อนของนาม-รูปให้แยกออกจากกันได้  ดังนั้น จึงต้องมีความรู้สึกตัวโดยกำหนดให้รู้ว่าเป็นรูปอะไร หรือนามอะไรด้วยเสมอ

 

                    การกำหนดต้องให้ได้อารมณ์ปัจจุบัน รูปนั่ง คือ อาการหรือท่าทางที่นั่ง รูปเดินก็คือ อาการ หรือท่าทางที่เดินไป เป็นต้น  ดังที่ใน สติปัฎฐานสูตร กล่าวไว้ว่า ตั้งกายไว้แล้วด้วยอาการอย่างไร ๆ ก็ให้รู้ชัดในอาการของร่างกายที่ตั้งไว้แล้วอย่างนั้น ๆ กล่าวคือ นั่งก็รู้ชัดในอาการที่นั่งนั้น ว่าเป็นรูปนั่ง เดินอยู่ ก็รู้ชัดในอาการหรือท่าทางที่เดินนั้นว่าเป็นรูปเดิน เป็นต้น

 

                    พระมหาแสวง  โชติปาโล (สัมภาษณ์) แนะนำถึงวิธีการสังเกตเพิ่มเติมไว้ว่า เช่น ความรู้สึกตัวว่านั่ง ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ อาการที่นั่ง กับรู้สึกว่านั่ง ความรู้สึกว่านั่งเป็นสัมปชัญญะ จิตที่ไม่ตกไปจากอาการที่นั่ง-เป็นสมาธิที่เกื้อกูลให้ความรู้สึกนั่งอยู่ได้  สมาธิที่ไม่ตกไปจากการรู้สึกนี้ จึงจะเป็นบาทฐานของวิปัสสนา เป็นการตามรู้ในอาการต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ ไม่ใช่ท่องเอาว่า นั่งเป็นรูป นั่งเป็นรูป  การท่องซ้ำ ๆ เช่นนี้กลายเป็นว่า รู้สึกที่ใจ ไม่ใช่ที่อาการนั่ง

 

                    ส่วนพระอาจารย์วันทัน  ธัมมรักขิตฺต (สัมภาษณ์) กล่าวเสริมว่า การกำหนด ให้กำหนดที่ท่าทางอาการที่นั่งอยู่ ไม่ใช่นึกเอาว่า รูปนั่ง การนึกอยู่ที่ใจ การนึกกับอาการจริงจะเป็นคนละอย่างกัน คนละฐานกัน เมื่ออารมณ์อยู่ที่หนึ่ง แต่เราไปกำหนดอีกที่หนึ่ง เราจะรู้ความจริงไม่ได้ เพราะความจริงอยู่ที่กาย (อาการนั่ง) แต่เราไปนึก (กำหนด) ที่ใจ คนละฐานกัน ก็จะไม่ได้ความจริงตามสภาวธรรมของอิริยาบถ (เป็นแต่สภาวที่เราสร้างขึ้นแทน)

 

                    อิริยาบถที่ นั่ง นอน ยืน เดิน นั้น  ต้องเป็นไปตามธรรมดาที่เป็นปกติ คือ ก่อนจะมาเจริญวิปัสสนาเคยนั่งอย่างไร เคยนอนอย่างไร เคยยืน เคยเดินอย่างไร เมื่อมาเจริญวิปัสสนาก็นั่งนอน ยืน เดิน ในอาการอย่างเดียวกัน  วิปัสสนานั้นมิใช่ให้รู้สิ่งที่ผิดปกติ แต่ให้รู้ธรรมชาติปกติที่เป็นปัจจุบันนั่นเองว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน คน สัตว์  ถ้าทำอาการให้ผิดปกติ เช่น ต้องนั่งท่านั้น ต้องเดินท่านี้แล้ว ความผิดปกตินั่นเองจะปิดบังธรรมชาติของตนให้เห็นว่าบังคับได้ จิตจะเข้าถึงกฎธรรมดาไม่ได้

 

                    เมื่อนั่งหรือเดินไปสักครู่หนึ่ง ความปวดเมื่อยอันเป็นทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดรูปที่กำลังนั่ง หรือรูปที่กำลังเดินนั้น โดยทำความรู้สึกตัวว่า รูปนั่งเป็นทุกข์ หรือรูปเดินเป็นทุกข์ ขณะที่กำหนดต้องระวังอย่ามีความต้องการอยากให้ทุกข์หายไป ถ้ามีความต้องการเข้าอาศัย การกำหนดนั้นจะใช้ไม่ได้ เพราะการเจริญสติปัฏฐานนั้น เพื่อทำลายอภิชฌาและโทมนัส การกำหนดโดยอยากให้ทุกข์หายจะเป็นปัจจัยแก่อภิชฌา ถ้าทุกข์ไม่หายก็เป็นโทมนัส ความอยากให้ทุกข์หายจึงไม่ชื่อว่าเจริญสติปัฏฐาน

 

                    ขณะกำหนดอิริยาบถใดก็ตาม ต้องระวังการบังคับตนเองว่าต้องนั่งให้ได้นานเท่านั้น ต้องเดินให้ได้นานเท่านี้ เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน การเจริญสติปัฏฐานนั้น ห้ามการบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าบังคับ การปฏิบัติก็เป็นอัตตา อัตตาจะตามไปอยู่ในทุกอิริยาบถ  ส่วนวิปัสสนาหรือสติปัฏฐานไม่มีการบังคับ ต้องแล้วแต่เหตุผลตามสมควร ว่าต้องเปลี่ยนอิริยาบถเพราะเหตุใด ก็เปลี่ยนไปตามเหตุผลนั้น ไม่ใช่อยากเปลี่ยนจึงเปลี่ยน ความจริงคือที่ต้องเปลี่ยนก็เพราะทุกข์เกิดขึ้น จึงทำให้ต้องเปลี่ยนการกำหนดว่าทุกข์เกิดขึ้นบีบคั้นก่อนจึงเปลี่ยน จึงจะได้ความรู้ที่ตรงกับความเป็นจริง อิริยาบถเหล่านั้นก็จะไม่สามารถปิดบังทุกข์ได้

 

                    เมื่อตามกำหนดดูไปทุกอิริยาบถจนหมดแล้ว จะเห็นว่า รูปอิริยาบถทั้งเก่าและใหม่เป็นทุกข์ แต่จะต้องเห็นทุกขเวทนาในรูปอิริยาบถเก่าก่อน เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรจำกัดเวลาว่า ต้องนั่ง หรือต้องเดิน หรือต้องเดินนานกี่นาที หรือกี่ชั่วโมง เพราะความสำคัญอยู่ที่ต้องการจะรู้เหตุผล ถ้าพยายามรู้เหตุผลนั้นแล้วก็อาจเปลี่ยนอิริยาบถภายใน 5 หรือ 10 นาที ตามแต่เหตุผลที่จะต้องเปลี่ยน เมื่อสามารถกำหนดรู้เหตุผลได้บ่อย ๆ ปัญญาก็ย่อมจะรู้ความจริงได้เร็ว เมื่อทุกข์เกิดขึ้นจึงต้องเปลี่ยนและรู้ด้วยว่ารูปอะไรเป็นทุกข์ รูปนั่ง หรือรูปนอน หรือรูปยืน หรือรูปเดินเป็นทุกข์ เป็นความสำคัญมาก

 

                    เมื่อรู้ว่าต้องเปลี่ยนอิริยาบถเพราะทุกข์แล้ว ต้องพิจารณาต่อไปอีกว่าการเปลี่ยนอิริยาบถนั้นเพื่ออะไร เหตุผลคือที่เปลี่ยนนั้นเพื่อแก้ทุกข์ ไม่ใช่เพื่อให้มีความสุข ถ้ากำหนดไม่แยบคายก็จะเข้าใจว่าเปลี่ยนเพื่อให้ได้ความสุข  ดังนั้น จึงต้องตามดูจนกระทั่งเห็นว่า ไม่มีอิริยาบถใดเลยที่เป็นสุข การรู้เช่นนี้เป็นปัญญาอย่างหนึ่งชื่อว่า สาตถกปัญญา คือ รู้การที่ทำนั้นว่าเพื่อประโยชน์อะไร

 

                    เมื่อรู้ว่าต้องเปลี่ยนอิริยาบถทั้งหลายเพื่อแก้ทุกข์ ก็จะเห็นว่าที่ต้องแก้ไขหรือต้องเปลี่ยนอิริยาบถใหม่ ไม่ใช่ความสุขเลย ที่ต้องเปลี่ยนก็เพราะทุกข์บังคับให้ต้องเปลี่ยน ถึงแม้ไม่อยากจะเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน ในการที่ต้องฝืนใจเปลี่ยนนี้เอง อิริยาบถใหม่จึงไม่เป็นที่อาศัยของตัณหา เพราะไม่เปลี่ยนไม่ได้ ถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยน ถ้าเห็นว่าต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะถูกบังคับเช่นนี้ความต้องการในอิริยาบถใหม่คือ ตัวตัณหาและทิฏฐิ ที่เคยต้องการอิริยาบถใหม่ก็จะเข้าอาศัยไม่ได้

                    เมื่อรู้เช่นนี้ การพิจารณาอิริยาบถย่อมทำลายวิปลาสธรรมซึ่งเป็นตัวที่ปิดบังทุกข์เมื่อสิ่งที่ปิดบังทุกข์ถูกทำลายไปอย่างนี้ วิปลาสที่สำคัญว่าเป็นสุขก็จะหมดไปเมื่อความสำคัญว่า สุขถูกทำลายลงไปแล้ว ความรู้ว่าเป็นทุกข์ก็จะเข้ามาแทน การรู้เช่นนี้เป็นความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ใช่วิปลาสเพราะว่าทุกข์เป็นของจริง ทุกข์เป็นสัจจธรรม นี่เป็นนัยของการกำหนดอิริยาบถ ทำลายสิ่งปิดบังทุกข์

 

                    อนึ่ง ผู้ปฏิบัติควรทราบว่า อารมณ์ใดที่ผู้ปฏิบัติทำขึ้น อารมณ์นั้นไม่ใช่ของจริง  เมื่อสร้างขึ้นแล้ว จะกำหนดให้รู้ความจริงจากอารมณ์ที่สร้างขึ้นนั้นไม่ได้ เพราะอารมณ์ที่สร้างขึ้นมาจากอำนาจของความต้องการซึ่งเป็นตัวกิเลส จะเป็นเครื่องปิดบังโดยตรง ทำให้ไม่สามารถที่จะได้ความจริงในอารมณ์นั้น อารมณ์ใดที่จะให้ความจริง ต้องเป็นอารมณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นเอง เช่น อิริยาบถต่าง ๆ นั้น แม้ว่าเราไม่ต้องการจะพลิกแต่ก็ต้องพลิก ต้องเปลี่ยนเพราะอะไร เพราะเมื่อทุกข์เกิดก็ต้องพลิกต้องเปลี่ยนไปเอง ไม่พลิกหรือไม่เปลี่ยนไม่ได้ และทุกข์นั้นไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะความต้องการของใครแต่เกิดขึ้นจากเหตุอันสมควร ฉะนั้น อารมณ์ที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการ จึงเป็นอารมณ์ปัจจุบันเพราะไม่เป็นที่อาศัยของกิเลสตัณหา ทั้งหมดที่กล่าวคือเหตุผลที่อยู่ในหมวดอิริยาบถบรรพ

 

                    ส่วนในหมวดสัมปชัญญะบรรพ ได้แก่ การพิจารณาเวลารับประทานอาหาร ว่ารับประทานเพราะอะไร  ไม่ใช่เพราะอยากรับประทาน หรืออยากอร่อย ต้องพิจารณาว่า เพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ได้จะให้กายดำรงอยู่เพื่ออะไร ก็เพื่อจะได้เป็นที่อาศัยทำกิจ คือ การทำพระนิพพานให้แจ้ง หรือรับประทานเพื่อแก้ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความหิวเท่านั้น

 

                    การอาบน้ำก็เช่นกัน ต้องพิจารณาให้รู้ว่าเพื่อแก้ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายเพราะเหงื่อไคลและสิ่งสกปรก เวลาที่จะใช้บาตรใช้จีวร ก็ต้องพิจารณาเพื่อแก้ทุกข์ ไม่ใช่เพื่อความสวยงาม แต่ห่มเพื่อป้องกันหนาว หรือป้องกันสัตว์ที่จะมารบกวน เช่น เรือด ริ้น ยุง ฯลฯ  เพราะถ้ามีสิ่งรบกวนดังกล่าว จะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม เป็นต้น

 

                    เวลาถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ก็ต้องพิจารณาว่า เพราะทุกข์เกิดขึ้นแล้ว และที่ต้องไปถ่ายอุจจาระหรือถ่ายปัสสาวะ ก็เพราะต้องแก้ทุกข์นั่นเอง

 

                    ส่วนอิริยาบถย่อยอื่น ๆ ในสัมปชัญญะบรรพนั้น ก็อยู่ในอิริยาบถ 4 แล้ว เช่น การกำหนดรูปนั่ง เวลาจะพลิกตัวหรือยืนขึ้น ถ้าไม่มีอิริยาบถย่อยแล้ว ก็พลิกไม่ได้หรือลุกขึ้นยืนไม่ได้ ถ้ายืนอยู่แล้วและจะนั่ง ถ้าไม่มีอิริยาบถย่อยช่วยก็นั่งไม่ได้ อิริยาบถย่อยอยู่ในอิริยาบถใหญ่ ถ้ากำหนดอิริยาบถใหญ่ก่อนและอิริยาบถใหญ่ชัดเจนดีแล้ว ก็รู้ถึงอิริยาบถย่อยด้วย

 

                    เมื่อพิจารณารูป-นามอย่างนี้จนมีความเข้าใจมากขึ้น ๆ เช่น ขณะนั่งก็รู้ว่าเป็นรูปนั่ง ไม่ใช่เรานั่ง และที่รู้ว่าเป็นรูปนั่ง คือ นามรู้ ไม่ใช่เรารู้ เป็นปัญญารู้ ทุกอย่างที่ดูแล้วนั้นล้วนแต่เป็นนาม-รูป ไม่มีใครเป็นตัวตน หรือเป็นผู้หญิงผู้ชายมาเป็นผู้นั่ง ผู้นอน ผู้ยืน ผู้เดิน และไม่มีใครคนใดคนหนึ่งมาเป็นผู้รู้ผู้เห็นอย่างนั้น

                    การเห็นอย่างนี้ในวิปัสสนาเรียกว่า นาม-รูปปริจเฉทญาณ  ซึ่งเป็นญาณขั้นต้น เพราะได้เห็นความกระจัดกระจายออกไปเป็นนาม-รูปไปหมด ผู้ปฏิบัติต้องรู้อย่างนี้ อัตตวิปลาส ที่สำคัญว่า เรา จึงไม่อาศัยอยู่ในความรู้สึก ญาณ คือ ความรู้สึกอันเกิดจากปัญญาที่เข้าไปเห็นความจริงนี้ ในวิสุทธิ 7 เรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ คือ ความเห็นถูกต้องตรงกับความเป็นจริงโดยไม่เจือด้วยความเห็นผิด ที่เคยเข้าใจหรือเคยสำคัญว่าเป็นเราหรือเป็นตัวตนของเราหรือมีเรา เป็นต้น ความเห็นผิดในตัวตนจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่ก็ยังไม่เข้าถึงไตรลักษณ์ ผู้ปฏิบัติจะต้องกำหนดนาม-รูปนั้นเป็นอารมณ์ต่อไปอีก จึงจะเห็นไตรลักษณ์ อันมีความไม่เที่ยงได้

 

                    ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงรวบรวมใจความพอสังเขปของอิริยาบถบรรพ และสัมปชัญญะบรรพสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติใหม่เท่านั้น ยังมีการพิจารณาการสังเกตในแง่มุมต่าง ๆ อีกมากมาย  ซึ่งของดกล่าวถึงในที่นี้  แต่จะขอสรุปเป็นตารางการกำหนดรูป-นามตามทวารต่าง ๆ ดังนี้

 

ตารางที่ แสดงการกำหนดนาม-รูปที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาโดยย่อ (สำนักวิปัสสนาอ้อมน้อย)

 

 


 แนวกรรมฐานของสำนักวิปัสสนาอ้อมน้อย  หมวดอิริยาบถและหมวดสัมปชัญญะ  การสอบอารมณ์  ข้อมูลจากการสัมภาษณ์   กลับหน้าสารบัญ