Moonlanithi OnlineStudy
thai    english

หลักสูตร อบรมวิปัสสนา
Article

เหตุ - ปัจจัย : ระเบียบแห่งชีวิต

ปรากฏการณ์ใด ๆ ของโลกและชีวิตมีเหตุทำให้เกิดขึ้น มีปัจจัยเป็นตัวสนับสนุนเหตุนั้นให้เจริญและตั้งมั่นอยู่ได้ ปัจจัยเป็นตัวสนับสนุนจึงเปรียบเหมือนผู้อุปการะให้ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ดำเนินไปได้ตามแบบแผนที่พึงจะเป็น เช่น เม็ดมะม่วง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็จะแห้งและตายไปในที่สุด แต่ถ้านำไปฝังในดินที่มีปุ๋ยพอเหมาะ มีแสงแดดส่องถึง หมั่นรดน้ำ สภาพเดิมที่เคยเป็นเพียงเม็ดมะม่วง ก็จะแตกออกเป็นลำต้น กิ่ง ใบ และให้ผลในเวลาต่อมา

ในที่นี้เม็ดมะม่วงเป็นเหตุ ส่วนดิน ปุ๋ย น้ำ แสงแดด เป็นตัวอุปการะสนับสนุนเหตุ คือ เม็ดมะม่วงให้เจริญขึ้นจนเกิดผลมะม่วงให้เรารับประทานกัน ผลมะม่วงเป็นสภาพธรรมที่มาจากการทำงานร่วมกันของปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ผลมะม่วงจะเกิดขึ้นเองลอย ๆ ไม่ได้ หรือเกิดขึ้นเพราะการบังคับโดยไม่ให้ปัจจัยเลยก็ไม่ได้ และในทางตรงข้ามถ้ามีเหตุ คือ เม็ดมะม่วง และมีปัจจัยพอเพียงทั้งดิน น้ำ ปุ๋ย แสงแดด จะห้ามไม่ให้เม็ดมะม่วงแตกดอกออกผลก็ไม่ได้เช่นกัน

 

พระพุทธองค์กล่าวถึงหลักทั่วไปของความสัมพันธ์ไว้ว่า

อิมสฺมํ สติ อิทฺ โหติ                 เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ     เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

อิมสฺสมํ อสติ อิทํ น โหติ         เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี

อิมสฺส นโรชา อิทํ นิรุชฌติ      เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย)

(สํ. นิ. 16/64)

 

การแสดงถึงเหตุและปัจจัยของชีวิต อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพานนั้น มีพุทธประสงค์ พื่อให้รู้ถึงองค์ประกอบและเงื่อนไขที่เชื่อมโยงองค์ประกอบทั้งหลาย ตลอดจนการอุปการะให้สังสารวัฎฎ์ดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด พระอนุรุทธาจารย์แสดงถึงการอุปการะกันไว้ 2 นัย คือ ปฏิจจสมุปบาทนัย และ ปัฏฐานนัย ทั้ง 2 นัยมีความต่างกันดังนี้ (วรรณสิทธิ์ ไวทยะเสวี 2530 : 11) 

ปฏิจจสมุปบาทนัย แสดงเพียงให้รู้ว่า บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นในโลกนี้ ล้วนเป็นผลที่เกิดมาจากธรรมที่เป็นเหตุทั้งสิ้น ธรรมเหล่านั้นอุปการะซึ่งกันและกันไปตามลำดับจะเกิดขึ้นมาเองลอย ๆ หรือเกิดข้ามลำดับ หรือมีผู้ใดสร้างให้เกิดขึ้นมาโดยปราศจากธรรมที่เป็นเหตุนั้นย่อมไม่มี แต่ไม่ได้แสดงถึงรายละเอียดของอำนาจการอุปการะว่ามีการอุปการะด้วยอำนาจของปัจจัยใด เช่น อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร แต่ไม่ได้กล่าวว่า อวิชชาอุปการะให้เกิดสังขารได้อย่างไร สำหรับการอิงอาศัยกันเกิดขึ้นในแง่ของปัจจยาการ ได้แก

 

 ปัฏฐานนัย แสดงให้รู้ว่าสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหลายที่ปรากฏในอนันตรจักรวาล ล้วนแต่เป็นเหตุ เป็นผล เกี่ยวเนื่องกันตามธรรมที่เป็นเหตุและผล การที่จะปรากฏขึ้นโดยไม่เกี่ยวกับเหตุผลนั้นไม่มีเลย ยังแสดงถึงอำนาจการอุปการะของแต่ละปัจจัย ซึ่งมีลักษณะพื้นฐานแตกต่างกัน 24 ลักษณะ ปัฏฐานนัยนี้จึงมีเนื้อความกว้างขวางและสุขุมลุ่มลึกมาก

 

สำหรับเนื้อความโดยสังเขปในปัจจัยทั้ง 24 มีดังนี้

1. เหตุปัจจัย เพราะมีเหตุ 6 เป็นปัจจัย

2. อารัมมณปัจจัย เพราะมีอารมณ์ 6 เป็นปัจจัย

3. อธิปติปัจจัย เพราะมีความเป็นอธิบดี 4 เป็นปัจจัย

4. อนันตรปัจจัย จิต เจตสิกที่ดับไปอย่างไม่มีระหว่างคั่น เป็นปัจจัย

5. สมนันตรปัจจัย จิต เจตสิกที่ดับไปอย่างไม่มีระหว่างคั่นตามลำดับ เป็นปัจจัย

6. สหชาตปัจจัย การเกิดพร้อมกัน เป็นปัจจัย

7. อัญญมัญญปัจจัย เพราะต่างอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นปัจจัย

8. นิสสยปัจจัย เพราะโดยเป็นที่อาศัย เป็นปัจจัย

9. อุปนิสสยปัจจัย เพราะเป็นที่อาศัยโดยมีกำลังมาก เป็นปัจจัย

10. ปูเรชาตปัจจัย เพราะด้วยการเกิดก่อน เป็นปัจจัย

11. ปัจฉาชาตปัจจัย เพราะด้วยการเกิดทีหลัง เป็นปัจจัย

12. อาเสวนปัจจัย เพราะมีชวนะที่เกิดก่อน เป็นปัจจัย

13. กัมมปัจจัย เพราะมีเจตนา เป็นปัจจัย

14. วิปากปัจจัย เพราะมีวิบาก เป็นปัจจัย

15. อาหารปัจจัย เพราะมีอาหาร 4 เป็นปัจจัย

16. อินทริยปัจจัย เพราะมีนามรูปอินทรีย์ เป็นปัจจัย

17. ฌานปัจจัย เพราะมีองค์ฌาน 7 เป็นปัจจัย

18. มัคคปัจจัย เพราะมีองค์มรรค 9 เป็นปัจจัย

19. สัมปยุตตปัจจัย เพราะเป็นนามธรรมเหมือนกัน เป็นปัจจัย

20. วิปยุตตปัจจัย เพราะเป็นนามกับรูปซึ่งไม่เหมือนกัน เป็นปัจจัย

21. อัตถิปัจจัย เพราะมีนามรูปที่กำลังมีอยู่ เป็นปัจจัย

22. นัตถิปัจจัย เพราะมีนามธรรมที่ดับไปแล้ว เป็นปัจจัย

23. วิคตปัจจัย เพราะด้วยการปราศจากไปแล้วของนามธรรม เป็นปัจจัย

24. อวิคตปัจจัย เพราะด้วยการที่ยังไม่ปราศจากไปของนาม-รูป เป็นปัจจัย

ทั้ง 24 ปัจจัย เป็นลักษณะการอุปการะกันระหว่างจิต เจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรม เป็นกระบวนการทางพลวัตที่ไหลต่อเนื่องกันอย่างไม่ขาดสาย บางครั้งอุปการะกันด้วยความเป็นเหตุ บางครั้งอุปการะกันด้วยการเกิดพร้อมกันบ้าง บางครั้งเป็นที่อาศัยบ้าง บางครั้งเกิดขึ้น เพราะสิ่งที่ดับไปแล้ว บางครั้งเกิดขึ้นเพราะสิ่งที่ยังมีอยู่ เป็นการอธิบายสภาพธรรมหนึ่ง ๆ ในแง่มุมต่าง ๆ แต่ก็หมายถึงสภาพธรรมเดียวกัน

พิจารณาทั้งในแง่ของการเกิดขึ้นด้วยอำนาจอย่างหนึ่ง การตั้งอยู่ได้ด้วยอำนาจอีกอย่างหนึ่ง และต้องหมดสภาพไปเพราะอำนาจบางอย่าง สิ่งที่ค้ำยันให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ เดินได้ พูดได้ ทำงานได้ นั้น แม้จะเกิดจากปัจจัยที่มีลักษณะต่าง ๆ จำนวนมากมาย และมีความสลับซับซ้อน อย่างไรก็ตาม การค้ำยันนั้นก็เป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผนของตนเอง เป็นไปตามลำดับไม่ก้าวก่ายกัน

กล่าวโดยสรุป มีวิธีการพิจารณา ปฏิจจสมุปบาทนัย และปัฏฐานนัยอยู่ 4 ลักษณะ (วรรณสิทธิ์ ไวทยะเสวี 2530 : 113-114) คือ

1. เป็นการพิจารณาถึงการ เกิด-ดับ ติดต่อกันไม่ขาดสาย

2. แม้จะเกิดติดต่อกันอย่างไม่ขาดสาย แต่ธรรมที่เกิดก่อนกับธรรมที่เกิดหลังเป็นสภาวธรรมที่ต่างกัน มีเหตุและผลที่ต่างกัน

3. เหตุที่เกิดขึ้นนั้น ไม่มีการขวนขวายพยายามที่จะให้ผลเกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่เป็นไปตามสภาวเท่านั้น ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาจัดแจงให้เป็นไปตามการบังคับบัญชาของใคร

4. ผลธรรมใดที่เกิดขึ้น ต่างมีเหตุของตนโดยเฉพาะ ไม่ก้าวก่ายกัน เช่น สังขารเกิดขึ้นเพราะมีอวิชชาเป็นเหตุ นอกจากอวิชชาแล้ว ธรรมอื่น ๆ เป็นเหตุให้เกิดสังขารไม่ได้ เป็นต้น

จากการพิจารณาทั้ง 4 ลักษณะ สามารถละทิฏฐิได้ 7 อย่าง กล่าวคือ

1. การเห็นความสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสายของนาม-รูป คือ เห็นความเกิดแล้วตาย เมื่อตายแล้วก็เกิดอีกไม่มีการสูญหายไป ย่อมละ อุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่าขาดสูญ) และนัตถิกทิฏฐิ (เห็นว่าทำแล้วไม่มีผล)

2. การเห็นถึงสภาวธรรมที่ต่างกัน เพราะมีเหตุและผลที่ต่างกัน สามารถละสัสสตทิฏฐิ (ความห็นว่าเที่ยง) ออกไปได้ เพราะมีธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล เกิดขึ้นใหม่อยู่เสมอ

3. การเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นว่าไร้การจัดแจงบงการจากใคร เป็นการปฏิเสธลัทธิผู้สร้างหรืออิสสรนิมานวาททิฏฐิ และปฏิเสธความมีตัวตนหรืออัตตทิฏฐิ

4. การยอมรับถึงผลธรรมว่ามีเหตุเฉพาะของตนไม่ก้าวก่ายกัน ย่อมสามารถละ อเหตุกทิฏฐิ ที่เห็นว่าธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเองได้ ไม่ต้องอาศัยเหตุ และอกิริยทิฏฐิ ซึ่งเชื่อว่าการกระทำต่าง ๆ ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป

ประโยชน์ที่ได้จากการพิจารณาเหตุผลตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาทและปัฏฐาน จึงสรุปได้ดังนี้

1. เพื่อให้สัตว์ทั้งหลายเข้าใจเหตุผลในความเป็นอยู่ของตนเองว่า รูป-นามที่ยึดถือกันว่าเป็นอัตตาหรือเป็นตัวเรานี้ หาได้มีผู้ใดสร้างขึ้นไม่ มีแต่เหตุกับผลที่เกี่ยวเนื่องกันตามสภาวะปรมัตถธรรมเท่านั้น ไม่มีตัวตน เรา เขา แต่ประการใด

2. ความเข้าใจรูป-นามตามเหตุผลเช่นนี้ จะชักนำให้ผู้รู้นั้นพ้นจากวัฏฏทุกข์ได้ เพราะสามารถทำลายความเห็นผิด และความสงสัยเสียได้ตามสมควรแก่ความรู้ความเข้าใจของตน คือ เมื่อมีความรู้จากการเรียนที่เรียกว่า สุตามยปัญญา ย่อมนำไปสู่การปฏิบัติ ที่สามารถละสักกายทิฏฐิและวิจิกิจฉา เป็นต้น

3. ความรู้ความเข้าใจในรูป-นาม ตามเหตุผลของปฏิจจสมุปบาท ย่อมสงเคราะห์เข้าในปัจจยปริคหญาณ จัดเป็นกังขาวิตรณวิสุทธิโดยตรง ซึ่งถือว่าได้ผ่านนาม-รูปปริจเฉทญาณ ซึ่งเป็นทิฏฐิวิสุทธิมาแล้ว เพราะผู้ที่รู้ในปฏิจจสมุปบาทและปัฏฐานนั้น ต้องมีความรู้เรื่องรูป-นามเป็นอย่างดี เมื่อยกรูป-นามขึ้นเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา โดยอาศัยสุตามยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา ก็เป็นเหตุให้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล พ้นจากวัฏฏทุกข์ได้