แนวคิดเกี่ยวกับรูป

ชีวิตต้องมีทั้งกายและจิต กายเป็นสภาพที่มองเห็นได้ สัมผัสได้ มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งแบบค่อยเป็นค่อยไป และแบบเฉียบพลัน เช่น จากผิวเด็กที่เต่งตึง แปรสภาพไปสู่ความเหี่ยวย่นเมื่อถึงวัยชราเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่รู้ตัวค่อย ๆ เปลี่ยนไป แต่ถ้าถูกน้ำร้อน หรือถูกไฟไหม้หรือถูกแสงแดดมากเกินไป ก็จะเห็นความเสื่อมสลายได้ในทันที กายอย่างเดียวเป็นสิ่งที่รับรู้ความดี ความชั่ว ความสุข ความเจ็บปวดทรมานไม่ได้ เช่น คนตาย กายไม่มีการเคลื่อนไหว ถึงจะถูกน้ำร้อน หรือไฟไหม้ ก็ไม่มีความรู้สึกสะทกสะท้านแต่อย่างใด กายในภาษาธรรมเรียกว่า รูป อาการของกาย ก็คือ อาการของรูป กายนั่ง จึงหมายถึง รูปนั่ง รูปเป็นธรรมชาติที่ย่อมแตกสลายไปด้วยอำนาจของความร้อนและเย็น และรูปเป็นสิ่งที่รับรู้อารมณ์ใด ๆ ไม่ได้

   

ดังนั้น จึงต้องมีสภาวธรรมอีกชนิดหนึ่ง เป็นตัวรับรู้ความดี ความชั่ว ความสุข ความเจ็บปวดทรงมานดังกล่าว ตัวรับรู้นั้นคือ จิต ซึ่งเป็นสภาวธรรมที่มองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง แต่รู้อารมณ์ได้ สภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์ในภาษาธรรม เรียกว่า นาม จิตจึงเป็นนามชนิดหนึ่ง (นอกจากจิตแล้ว เจตสิกและนิพพานก็เป็นนามเช่นกัน) สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์มี ๖ ชนิด คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง และความนึกคิด จิตอาศัยรู้อารมณ์เหล่านี้ทางระบบประสาทของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับคนที่ตายแล้วระบบประสาททั้งหมดทั่วร่างกายไม่ทำงาน เมื่อจิตไม่มีที่อาศัยเกิด จึงไม่มีการรับรู้อารมณ์ใด ๆ อีก ความสำคัญของจิตหรือนามจะกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่งในโอกาสต่อไป

ที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อแสดงถึงความหมายของรูปและนาม ตามความเข้าใจของคนทั่วไป และตามหลักทางธรรม ในที่นี้จะเสนอแนวคิดเรื่องรูปปรมัตถ์ด้วยวิธีการของอภิธรรมก่อน กล่าวคือ สิ่งที่เรียกว่า รูปธรรม มีลักขณาทิจตุกะ (บุญมี เมธางกูร และ วรรณสิทธิ์ ไวทยะเสวี ๒๕๓๐ : ๒) ดังนี้

รุปปน ลกฺขณํ                        มีการสลายไปแปรปรวนไป เป็นลักษณะ

วิกิรณ รสํ                             มีการแยกออกจากกัน (กับจิต) ได้ เป็นกิจ

อพฺยากต ปจฺจุปฏฺฺฐานํ            มีความเป็นอพยากตธรรม (คือ ธรรมที่ไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล)
                                           เป็นอาการปรากฏ

วิญฺญาณ ปทฏฺฺฐานํ                มีวิญญาณเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

 

ในขณะที่ความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา ศึกษาถึงส่วนประกอบตามระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบเนื้อเยื่อ ระบบผิวหนัง ระบบหายใจ ระบบกล้ามเนื้อ หรือระบบประสาท โดยศึกษาว่าแต่ละระบบมีส่วนประกอบสำคัญอะไรบ้าง แต่ละส่วนมีหน้าที่พิเศษอย่างไรในการรักษาสมดุลของร่างกาย

 

การศึกษาเรื่องรูปในทางพุทธศาสนาก็ศึกษาถึงส่วนประกอบหน้าที่การทำงานและความสัมพันธ์ของแต่ละส่วนเช่นกัน โดยวิเคราะห์ไปถึงเหตุ ปัจจัย ที่ทำให้แต่ละส่วนสามารถรักษาโครงสร้างของตนเองอยู่ได้ แต่ศึกษาในลักษณะที่เป็นสภาวะของรูปปรมัตถ์ซึ่งมีความละเอียดเล็กมาก รูปปรมัตถ์ทางพระพุทธศาสนามีทั้งหมด ๒๘ รูป ดังแผนผังเรื่องรูปต่อไปนี้ (พระมหาแสวง โชติปาโล ๒๕๓๕ : ๙๖ - ๙๙)


แผนผังรูป ๒๘


รูปสมุทเทสนัย

 

จาก ๒๘ รูป แบ่งเป็นหมวดได้ ๗ หมวด คือ


เหตุที่แบ่งรูปเป็น ๗ หมวดนั้น เป็นการแบ่งตามสมุฏฐาน หรือ เหตุที่ทำให้รูปเกิดขึ้น
รูปทุกรูปจะเกิดขึ้นเองตามลำพังไม่ได้ต้องมีสมุฏฐานให้เกิด เหตุที่ทำให้รูปเกิดขึ้นได้มี ๔ อย่าง คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร

นอกจากสมุฏฐานทั้ง ๔ แล้ว ไม่มีสิ่งใดทำให้เกิดรูปได้ รูปแต่ละหมวดจะมีสมุฏฐานการเกิดไม่เท่ากัน เช่น

 

                  

 

- หมวดอวินิพโภครูป ๘ มีสมุฏฐาน ๔ คือ เกิดจาก กรรม จิต อุตุ อาหาร

- วิการรูป ๓ เป็นรูปที่แสดงความเบา ความอ่อน ความควรที่การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดจากสมุฏฐาน ๓ คือ จิต อุตุ อาหาร

- สัททรูป ๑ คือ สัททารมณ์ หรือเสียง จะเกิดขึ้นได้ต้องมีสมุฏฐาน ๒ คือ เกิดจาก จิต และอุตุ

- เอกันตกัมมชรูป ๙ มีสมุฏฐานเพียง ๑ คือ เกิดจากอำนาจกรรมโดยตรง

- วิญญัติรูป ๒ เป็นรูปที่แสดงการเคลื่อนไหวทางกายและการพูด มีสมุฏฐานเพียง ๑ เช่นกัน แต่เกิดจากจิตที่นึกคิด จะทำหรือจะพูดไม่ได้เกิดจากกรรม

- ลักษณรูป ๔ เป็นรูปที่แสดงถึงความเกิดและเสื่อมไปของรูปแต่ละรูป จึงไม่มีสมุฏฐานของตนเองโดยเฉพาะ

- ปริจเฉทรูป ๑ คือ ช่องว่างระหว่างรูปแต่ละรูป ทำให้รูปแยกเป็นส่วน ๆ ได้ จึงมี
สมุฏฐานอ้างอิงตามรูปที่ตนประกอบ คือ มีได้ทั้ง ๔ สมุฏฐาน (กรรม จิต อุตุ อาหาร)

 

 

นอกจากแบ่งตามสมุฏฐานแล้ว ในรูป ๒๘ มีทั้งส่วนที่เป็นรูปปรมัตถ์แท้และส่วนที่ไม่ใช่รูปปรมัตถ์แท้ รูปปรมัตถ์แท้ คือ รูปที่มีสภาวลักษณประจำตัวเฉพาะของตนแน่นอน มีทั้งหมด ๑๘ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป๘ สัททรูป ๑ เอกันตกัมมชรูป ๙

 

ส่วนที่เหลืออีก ๑๐ รูป คือ วิการรูป ๓ วิญญัติรูป ๒ ลักษณรูป ๔ ปริจเฉทรูป ๑ ทั้ง ๑๐ รูป ไม่ใช่รูปปรมัตถ์แท้ เพียงแต่เป็นรูปพิเศษที่เกิดขึ้นเพื่อแสดงอาการเคลื่อนไหวของรูปปรมัตถ์แท้เท่านั้น ไม่มีสภาวะลักษณะประจำของตน รูปที่ไมใช่รูปปรมัตถ์แท้ เช่น ความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงาน ในการเคลื่อนไหวร่างกาย การพูด เป็นต้น รูปเหล่านี้จะเปลี่ยนไปได้ตามความนึกคิดที่จะเปลี่ยน ส่วนลักษณะความเกิดขึ้น สืบต่อ ความเสื่อมสลาย และช่องว่างระหว่างรูปก็เป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงไปตามอายุของแต่ละรูป จึงไม่มีลักษณะเฉพาะของตน ในเนื้อเยื่อร่างกายของคนเราจะมีรูปได้มากที่สุด ๒๗ รูป กล่าวคือ ถ้าเป็นหญิงก็ต้องยกเว้นไป ๑ รูป ที่แสดงลักษณะเพศชาย (ปุริสะภาวะ) ถ้าเป็นชายก็จะยกเว้น 1 รูปที่แสดงลักษณะของหญิง (อิตถีภาวะ) ถ้าพิการ เช่น ประสาทตาหรือหูพิการ จำนวนรูปก็จะลดลงอีก

ในที่นี้จะกล่าวถึงรูปปรมัตถ์แท้เพียง ๒ กลุ่ม คือ อวินิพโภครูป ๘ และเอกันตกัมมชรูป ๙ ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของชีวิตในมนุษยภูมิ โดยเฉพาะกลุ่มเอกันตกัมมชรูป ๙ เป็นรูปที่เกี่ยวเนื่องด้วยกรรมในอดีต เป็นตัวสร้างรูปเหล่านี้ขึ้น และเป็นที่มาของพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ส่วนสัททรูป (เสียง) เป็นรูปปรมัตถ์แท้ ซึ่งเกิดจากจิตและอุตุในปัจจุบันภพ ไม่ได้เกิดจากกรรมในอดีต จึงขอแยกและงดกล่าวถึงรายละเอียด องค์ประกอบพื้นฐานของรูปทุกชนิดต้องมีอย่างน้อย ๔ ธาตุ เป็นประธานของรูปอื่น ๆ เรียกว่า มหาภูตรูป ๔ ส่วนที่เหลืออีก ๒๔ รูป จะต้องอาศัยมหาภูตรูป ๔ เกิดเรียกว่า อุปาทายรูป ธาตุประธานหรือมหาภูตรูป ๔ นั้น ได้แก่

 

ธาตุดิน มีลักษณะเด่น คือ ความแข็งหรือความอ่อน เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ อวัยวะทุกส่วน

ธาตุน้ำ มีลักษณะเด่น คือ การไหลและเกาะกุม เช่น น้ำเลือด น้ำเหลือง ในเนื้อเยื่อทุกส่วนจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญ ทำให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ เกาะกลุ่มกันได้ ไม่กระจัดกระจายออกไป

ธาตุไฟ มีลักษณะเด่น คือ ให้ความร้อนและพลังงาน ในการเผาผลาญอาหารใน
ร่างกาย และยังทำให้ร่างกายแก่ชราทรุดโทรม เช่น ผมหงอก ฟันหัก เป็นต้น

ธาตุลม มีลักษณะเด่น คือ ความเคร่งตึง เคลื่อนไหว เช่น ลมหายใจทำให้เกิดการกระเพื่อมของทรวงอก  ตามไขข้อต่าง ๆ สามารถเหยียดยืดออกและหดงอเข้าได้ การเคลื่อนไหวทุกส่วนเกิดจากคุณสมบัติของธาตุลมนั่นเอง

 

ภายในธาตุทั้ง ๔ แต่ละธาตุมีคุณสมบัติเฉพาะตัว ๔ อย่าง คือ  สี   กลิ่น   รส   โอชะ เช่น
ภายในธาตุดินเองจะมีทั้งสี กลิ่น รส โอชะ ประจำธาตุดินอยู่ ธาตุอื่น ๆ ก็เช่นกัน ดังนั้น
องค์ประกอบพื้นฐานของรูปธรรมจึงมีอยู่ ๘ รูป ซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้เลย คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชะ เรียกว่า อวินิพโภครูป ๘

นอกจากกลุ่มอวินิพโภครูป ๘ แล้ว รูปปรมัตถ์แท้ที่สำคัญอีก ๙ รูป เป็นรูปที่เกิดจากกรรมโดยตรง กัมมชรูปทั้ง ๙ นั้น ได้แก่

ชีวิตรูป เป็นรูปอย่างหนึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานแทรกอยู่ในทุกเนื้อเยื่อของร่างกาย มีหน้าที่รักษารูปที่เกิดพร้อมกับตนให้คงอยู่ และเป็นไปได้ตลอดอายุของรูปนั้น ๆ

หทยวัตถุรูป เป็นรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน ตั้งอยู่ภายในช่องเนื้อเยื่อหัวใจโตเท่าเมล็ดดอกบุนนาค เป็นที่อาศัยเกิดของจิต (จิตประเภทมโนธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ) เพื่อการรู้ธรรมารมณ์

ปสาทรูป ๕ เป็นรูปที่เกิดจากกรรม ปสาทรูป หมายถึง รูปที่มีความใสเป็นที่อาศัยเกิดของจิตประเภทปัญจวิญญาณ รูปที่มีความใสนี้มีอยู่ 5 อย่าง คือ จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป และกายปสาทรูป ตำแหน่ง รูปร่างสัญฐาน และการเรียงตัวของเนื้อเยื่อเฉพาะ ๆ ของรูปทั้ง ๕ ไม่เหมือนกัน ปสาทรูป ๕ จึงเป็นที่อาศัยเกิดของจิตได้เพียงบางดวง และไม่ก้าวก่ายกัน เช่น จักขุปสาทรูป เป็นที่ตั้งของจักขุวิญญาณเพื่อทำหน้าที่เห็นเท่านั้น ส่วนโสตปสาทรูปจะเหมาะสำหรับเป็นที่อาศัยเกิดของโสตวิญญาณเพื่อทำหน้าที่ได้ยินเท่านั้น จักขุวิญญาณจะไปอาศัยเกิดที่โสตปสาทรูป เพื่อทำหน้าที่เห็น หรือแม้แต่ทำหน้าที่ได้ยินก็ไม่ได้ ปสาทรูปอื่นก็เช่นเดียวกัน คือ เป็นที่อาศัยเกิดของจิตเฉพาะดวง โดยจิตนั้นมีความสามารถรับอารมณ์ได้เฉพาะอารมณ์ของตน ๆ ไม่ปะปนกัน

ภาวรูป ๒ เป็นรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน แสดงสภาพความเป็นหญิง (อิตถีภาวะ) เป็นชาย (ปุริสะภาวะ) ภาวรูปนี้จะแทรกอยู่ในทุกเนื้อเยื่อของ
ร่างกายเช่นกัน การแสดงความเป็นหญิงหรือเป็นชายนั้นอาศัยเครื่องหมายที่แสดงออก 4 อย่าง คือ รูปร่าง ลักษณะเฉพาะ นิสัยใจคอ และกิริยาอาการ

- รูปร่าง ได้แก่ อวัยวะต่าง ๆ แขนขา หน้าตา เพศ ที่ปรากฏแต่กำเนิด

- ลักษณะเฉพาะ เช่น หนวด เครา หน้าอก

- นิสัยใจคอ การละเล่น การกระทำ เช่น หญิงชอบเล่นตุ๊กตา ทำครัว ส่วนชายชอบซุกซน

- กิริยาอาการ เดิน ยืน นั่ง นอน การพูด หญิงมีลักษณะเรียบร้อย เอียงอาย ชายจะว่องไว

รูปปรมัตถ์แท้ทั้ง ๑๘ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑ เอกันตกัมมัชรูป ๙

 


 

นิปผันรูป ๑๘

 

รูปแต่ละรูปจะแยกกันอยู่ตามลำพังไม่ได้ บรรดารูปธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้นย่อมเกิดขึ้นเป็นกลุ่ม (กลาป) ในมนุษยภูมิมีได้ทั้งหมด ๗ กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีจำนวนรูปอยู่ ๑๐รูป โดยมีกลุ่มอวินิพโภครูป๘ และชีวิตรูป ๑ รวม ๙ รูป เป็นพื้นของทุกกลุ่ม ส่วนรูปที่ ๑๐ มาจากกัมมัชรูปที่เหลือ ๘ รูป อีกกลุ่มละ  รูป เช่น

กลุ่มของหทยวัตถุรูป จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป รวม ๕ กลุ่มนี้ มีที่ตั้งที่อาศัยเฉพาะที่ คือ ที่บริเวณหัวใจ ตา หู จมูก ลิ้น ตามลำดับ ส่วนอีก 3 กลุ่ม คือ กายปสาทรูป ๑ ภาวรูป ๒ (เพศหญิงและเพศชาย) จะมีที่ตั้งที่อาศัยอยู่ทั่วทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า

กลุ่มรูปในร่างกายส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากกรรม กรรมในอดีตจะผันแปรเนื้อเยื่อ (เซลที่เกิดจากการผสมของไข่และสเปอร์ม) ให้เจริญเติบโตเป็นอวัยวะและระบบประสาททั่วร่างกาย กรรมดีจะช่วยอุดหนุนให้มีอวัยวะครบสมบูรณ์

กรรมชั่วก็อุดหนุนได้เช่นกัน แต่อุดหนุนให้อวัยวะขาดตกบกพร่อง ร่างกายไม่สมประกอบซึ่งเป็นผลมาจากกรรมชนิดการฆ่าและการเบียดเบียนสัตว์ในอดีต เป็นต้น กลุ่มรูปนอกจากจะเกิดกรรมโดยตรงแล้ว จิต อุตุ อาหาร ก็ทำให้เกิดรูปได้เช่นเดียวกัน กล่าวโดยรวมแล้วรูปปรมัตถ์มีกรรมเป็นพื้นฐาน มีจิตเป็นตัวเร่งเร้ากำเนิดของชีวิต และความเป็นไปภายหลังการเกิด มีอุตุเป็นตัวสร้างพลังงานให้ชีวิตสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ส่วนอาหารช่วยหล่อเลี้ยงให้ชีวิตดำรงอยู่ได้

ทั้ง ๔ สมุฏฐานทำงานร่วมกันอย่างมีเงื่อนไข  เป็นสัดส่วนมากบ้างน้อยบ้าง เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ก็เพื่ออุปถัมภ์ให้ชีวิตทั้งรูปธรรมและนามธรรมตั้งอยู่ได้ในภพหนึ่ง ๆ ตามสมควรที่พึงจะอยู่ได้ มิใช่ตามความปรารถนาของตนเองหรือของใครทั้งสิ้น

ดังได้กล่าวแล้วว่า รูปปรมัตถ์เกิดขึ้นเองไม่ได้ ต้องมีสมุฏฐานให้เกิด เมื่อเกิดแล้วจะอยู่ลำพังก็ไม่ได้ ต้องรวมกันเป็นกลุ่ม (กลาป) จึงจะทำหน้าที่ได้ ในมนุษยภูมิมีกลุ่มกลาปได้อย่างมาก ๗ กลุ่ม บางกลุ่มกระจายอยู่ทั่วทุกส่วนของร่างกาย เช่น กายปสาทรูป และกลุ่มภาวะรูป ๒ อีก ๕ กลุ่ม คือ หทยรูป จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป ฆานปสาทรูป จะรวมกันอยู่เฉพาะที่ เช่น กลุ่มหทยวัตถุรูป จะมีที่ตั้งอยู่ในเนื้อเยื่อหัวใจ กลุ่มจักขุปสาทรูปจะมีอยู่เฉพาะบริเวณจอรับภาพ (Retina) ของลูกตาทั้ง ๒ ข้างเท่านั้น กลุ่มโสตปสาทรูปก็จะมีอยู่เฉพาะบริเวณ Cochlea ในหูชั้นกลาง ๒ ข้างเท่านั้น เป็นต้น ใน ๗ กลุ่ม สามารถเป็นที่ตั้งที่อาศัยของจิตได้ ๖ กลุ่ม คือ หทยรูป ๑ และปสาทรูป ๕ จิตต้องอาศัยกลุ่มรูปทั้ง ๖ นี้ จึงจะแสดงความสามารถในการรู้อารมณ์ได้ หากรูปใดพิการหรือบกพร่อง เช่น ตาบอด การรับรู้อารมณ์ในส่วนนั้นก็บกพร่องไปด้วย คือ มองไม่เห็น

ความสำคัญของรูป คือ การเรียนรู้ถึงกฎเกณฑ์การอิงอาศัยกันของรูปและนาม  รูปเป็นที่ตั้งที่อาศัยของจิตเพื่อให้จิตทำงานได้ แนวคิดนี้เป็นประโยชน์ในการเจริญกรรมฐาน คือ แม้รูปทั้งหมดจะรู้อารมณ์ใด ๆ ไม่ได้เลย (การรู้เป็นหน้าที่ของจิต) แต่รูปก็เป็นอารมณ์แก่การเจริญสติปัฏฐานได้ รูปที่เป็นอารมณ์ในวิปัสสนาได้ต้องเป็นรูปปรมัตถ์แท้ (๑๘ รูป) เท่านั้น เพราะมีสภาวของตนและมีสามัญลักษณะของตน คือ เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป

ในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน บรรพที่ให้พิจารณารูป เช่น การพิจารณาอิริยาบถ หรือการพิจารณากายโดยความเป็นธาตุ เป็นต้น การพิจารณาดังกล่าวเพื่อละสัญญาวิปลาสที่เคยจำผิดว่า รูปร่างเป็นส่วนที่งาม รับความสุข มีความเที่ยง เป็นบุคคลตัวตนและมีอำนาจบงการ ให้รู้ว่าเป็นเพียงโครงสร้างต่าง ๆ ที่เกาะเกี่ยวกันเพื่อทำหน้าที่ของตนอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

Home   จิต    เจตสิก   กรรมฐาน     เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเครื่องหมายคณิตศาสตร์