แนวคิดเรื่องเจตสิกในพระอภิธรรม


เจตสิก คือสิ่งที่ประกอบกับจิตได้  เป็นธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด  การที่อาศัยจิตเกิดขึ้นนี้  ไม่เหมือนกับต้นไม้ ที่อาศัยพื้นแผ่นดินเกิด  เพราะพื้นแผ่นดินกับต้นไม้นั้น พื้นแผ่นดินเป็นฐานรองรับ และต้นไม้ตั้งอยู่บนพื้นแผ่นดินที่รองรับนั้น ซึ่งพื้นแผ่นดินจะต้องปรากฏขึ้นก่อน เพื่อเป็นฐานรองรับให้ต้นไม้เกิดภายหลัง  และการเกิดขึ้นของต้นไม้นั้นก็เป็นคนละส่วนกับพื้นแผ่นดิน คือต้นไม้ตั้งอยู่บนพื้นแผ่นดิน

            เจตสิกที่อาศัยจิตนั้น มีสภาพเหมือนอาจารย์กับศิษย์  คือ ทั้งอาจารย์และศิษย์ปรากฏขึ้นพร้อมกัน  เมื่อมีอาจารย์ก็ต้องมีศิษย์  หรือมีศิษย์ก็ต้องมีอาจารย์  ถ้าเว้นอาจารย์เสียแล้ว ศิษย์ย่อมมีไม่ได้  หรือถ้าเว้นศิษย์เสียแล้ว  อาจารย์ก็ย่อมมีไม่ได้เช่นเดียวกัน

 

 

1. ความหมายของเจตสิก

เจตสิก หมายถึง ธรรมชาติชนิดหนึ่งซึ่งประกอบกับจิต ปรุงแต่งจิตให้มีความเป็นไปต่าง ๆ (ขุนสรรพกิจโกศล 2510 : 2-3) อาการที่ประกอบกับจิตนั้น มีลักษณะ 4 ประการ คือ

            1. เกิดพร้อมกับจิต   2. ดับพร้อมกับจิต    3. มีอารมณ์เดียวกับจิต    4. อาศัยวัตถุเดียวกับจิต

 

จิตและเจตสิกที่อิงอาศัยกันนี้ ถ้าเปรียบจิตเป็นน้ำ เจตสิกเป็นสีแดง ผสมกันเป็นน้ำแดง เมื่อผสมกันแล้วไม่สามารถแยกน้ำออกจากสีแดงได้ฉันใด จิตและเจตสิกก็ไม่สามารถแยกออกจากกันเป็นอิสระได้ฉันนั้น  สภาวธรรม รวม 4 ประการของเจตสิก มีดังนี้

 

1.  ลักษณะของเจตสิกคือ                   มีการอาศัยจิตเกิดขึ้น
2.  กิจการงานของเจตสิกคือ              เกิดร่วมกับจิต
3.
 ผลงานของเจตสิกคือ                     รับอารมณ์อย่างเดียวกับจิต  
4.  เหตุที่ทำให้เจตสิกเกิดขึ้นได้ คือ  การเกิดขึ้นของจิต  

 

เจตสิกนี้แม้ว่าจะเป็นสิ่งปรุงแต่งจิต ให้จิตมีพฤติกรรมเป็นไปตามลักษณะของเจตสิกก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่าจิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน เพราะเจตสิกเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยจิตเกิด ไม่ว่าจะเป็นความพอใจ ความไม่พอใจ ความรัก ความเกลียด ความสงบ หรือฟุ้งซ่าน ล้วนเป็นคุณสมบัติของเจตสิกทั้งสิ้น แต่เจตสิกเกิดขึ้นเอง และแสดงพฤติกรรมเองไม่ได้ ต้องอาศัยจิตเป็นตัวแสดงพฤติกรรมแทน

จึงกล่าวได้ว่า ธรรมชาติของเจตสิกนั้น เกิดพร้อมกับจิต หรือประกอบกับจิตเป็นนิตย์ หรือธรรมชาติ ที่ประกอบกับจิตเป็นนิตย์ ชื่อว่า เจตสิก

 

การที่ต้องแบ่งจิตออกไปมากมายนั้น  เพราะเจตสิกที่ประกอบจิต มีประเภทต่าง ๆ กัน จิตสัมพันธ์กับโลกภายนอก โดยการเข้าไปรับรู้โลกเป็นอารมณ์  แต่การรับรู้นั้นต้องอาศัยเจตสิกที่เป็นตัวกระทบอารมณ์ครั้งแรก(ผัสสะเจตสิก) เป็นต้น และเจตสิกอื่น ๆ ก็จะร่วมปรุงแต่งจิตให้เป็นไปในอาการต่างๆ

การปรุงแต่งของเจตสิก ที่เกิดพร้อมกับจิตนั้น ทำให้จิตมีความสามารถในการรู้อารมณ์พิเศษแตกต่างกันออกไป เช่น รู้เรื่องของกามคุณอารมณ์  เรื่องของรูปฌาน อรูปฌาน จนถึงรู้นิพพานอารมณ์ 

 

ที่กล่าวว่าเจตสิก คือ กลุ่มนามธรรมที่เกิดในจิต โดยเป็นไปเนื่องกับจิตหมายถึง  กลุ่มธรรมอันมีผัสสะเป็นต้นนั้น  มีความเป็นไปของกลุ่มธรรม ที่คล้ายเป็นอันเดียวกับจิต ด้วยลักษณะมีการเกิดขณะเดียวกับจิตนั่นเอง  ข้อความนี้แสดงว่า เหมือนดั่งดอกไม้ ที่เนื่องอยู่ในขั้วเดียวกัน ในช่อดอกไม้ช่อหนึ่ง

 

            สภาพธรรม คือเจตสิก มีใจเป็นผู้นำ มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ

            หมายความว่า ผัสสะ เป็นต้น จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีจิต แต่จิตเป็นไปได้ แม้จะไม่มีเจตสิกบางดวงเกิดร่วม เช่น กลุ่มปัญจวิญญาณ ย่อมเกิดขึ้นได้แม้ไม่มีวิตกเจตสิกร่วมด้วย เป็นต้น  จึงควรกล่าวว่า เจตสิกเนื่องกับจิต แต่ไม่ควรกล่าวว่าจิตเนื่องกับเจตสิก

พระบาลีว่า “ สำเร็จด้วยใจ” หมายความว่า ถูกจิตกระทำให้สำเร็จ กล่าวคือ เป็นอาการของจิต

 

2. ประเภทของเจตสิก

เจตสิกมีลักษณะที่แตกต่างกัน รวม 52 ลักษณะ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ (จากแผนผังเรื่องเจตสิก)

1 2 3 4

2.1  อัญญสมานาเจตสิก หมายถึง เจตสิกฝ่ายกลาง ๆ ที่สามารถเข้าประกอบกับจิตได้ ทั้งกลุ่มกุศลจิต  กลุ่มอกุศลจิต และกลุ่มจิตที่ไม่ใช่กุศล / อกุศล (อัพยากตะจิต)

        อัญญสมานาเจตสิกมี 13 ดวง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม(แถว) ได้แก่
       
1.  กลุ่มเจตสิกแถวบน 7 ดวง เป็นกลุ่มเจตสิกที่ประกอบได้กับจิตทั่วไปทุกดวง (89 หรือ121ดวง)  เจตสิกกลุ่มนี้เวลาเข้าประกอบ จะเข้าพร้อมกันทั้ง 7 ดวง  แยกจากกันไม่ได้  จึงเรียกเจตสิกกลุ่มนี้ว่า สัพพสาธารณะเจตสิก 7         
      
2.  กลุ่มเจตสิกแถวล่าง 6 ดวง เป็นกลุ่มเจตสิกที่เข้าประกอบได้กับจิตทั่วไปเช่นกัน แต่เวลาเข้า ประกอบ จะเข้าไม่พร้อมกันก็ได้  แยกกันประกอบได้ เจตสิกกลุ่มนี้เรียกว่า ปกิณณกะเจตสิก 6  

 

2.2 อกุศลเจตสิก หมายถึง เจตสิกฝ่ายอกุศล เป็นกลุ่มเจตสิกที่ประกอบได้กับจิตที่เป็นอกุศลเท่านั้น กลุ่มอกุศลจิต มี 14 ดวง แบ่งเป็น 5 กลุ่ม(แถว) ความหมายของแต่ละดวง จะกล่าวในบทต่อไป ในที่นี้จะแสดงเพียงชื่อของกลุ่ม และเจตสิกในกลุ่มก่อน กล่าวคือ

1. กลุ่มโมหะเจตสิก 4 ดวง(โมจตุกะ 4) ได้แก่  โมหะ   อหิริกะ   อโนตตัปปะ  อุทธัจจะ

2. กลุ่มโลภะเจตสิก 3 ดวง(โลติกะ3)  ได้แก่     โลภะ    ทิฏฐิ      มานะ

3. กลุ่มโทสะเจตสิก 4 ดวง(โทจตุกะ 4) ได้แก่  โทสะ   อิสสา     มัจฉริยะ        กุกกุจจะ

4. กลุ่มที่ทำให้หดหู่ ท้อถอย(ถีทุกะ2) ได้แก่      ถีนะเจตสิก        มิทะเจตสิก

5. กลุ่มความลังเลสงสัย(วิจิกิจฉา1) ได้แก่          วิจิกิจฉาเจตสิก (มีเพียง 1 ดวง)

 

2.3  โสภณเจตสิก หมายถึง กลุ่มเจตสิกฝ่ายดีงาม เป็นกลุ่มที่ประกอบได้กับโสภณจิต  (ยกเว้นกลุ่มอกุศลจิต และกลุ่มอเหตุกจิตแล้ว จิตที่เหลือชื่อว่าโสภณะจิต) โสภณเจตสิกมี 25 ดวง แบ่งเป็น 4 กลุ่มดังนี้

1. โสภณสาธารณะเจตสิก 19  ได้แก่ สัทธา สติ หิริ โอตัปปะ..... เป็นต้น

2.  วิรตีเจตสิก 3 ได้แก่ สัมมาวาจาเจตสิก  สัมมากัมมันตะเจตสิก สัมมาอาชีวะเจตสิก

3.  อัปมัญญาเจตสิก    2 ได้แก่  กรุณาเจตสิก   มุฑิตาเจตสิก

4.  ปัญญาเจตสิก         1 ได้แก่  ปัญญาเจตสิก หรือปัญญินทรีย์เจตสิก

 

การที่จิตและเจตสิกจะประกอบกันได้จำต้องมีคุณสมบัติที่คล้ายกัน จึงอยู่ในที่เดียวกันได้ เช่น โลภะเจตสิก จะต้องประกอบได้กับโลภะมูลจิตเท่านั้น เมื่อประกอบกันแล้วโลภะจิตดวงนี้จึงจะสามารถแสดงอำนาจความอยากได้ออกมา โทสะเจตสิกก็ต้องประกอบกับโทสะมูลจิตเท่านั้น โทสะเจตสิกจะ   ประกอบกับโลภะจิตไม่ได้ เพราะเป็นสภาพธรรมที่ตรงข้ามกัน คือ โลภะเจตสิกมีสภาพติดใจในอารมณ์ ส่วนโทสะเจตสิกมีสภาพประทุษร้ายทำลายอารมณ์ จึงเข้ากันไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน เจตสิกฝ่ายอกุศล ก็จะเข้ากับโสภณเจตสิกก็ไม่ได้เช่นกัน

 

กล่าวโดยสรุป ธรรมชาติของเจตสิกนั้นเกิดพร้อมกับจิต หรือประกอบกับจิตเป็นนิตย์ เมื่อประกอบแล้ว ทำให้จิตเป็นบุญ(กุศล) หรือเป็นบาป(อกุศล) ตามการเข้าประกอบ  เจตสิกแบ่งเป็น  3 กลุ่มคือ เจตสิกฝ่ายกลาง เข้าได้กับจิตทุกกลุ่ม เรียกว่า  อัญญสมานาเจตสิก มี 13 ดวง  กลุ่มที่ 2 คือ เจตสิกฝ่ายอกุศลได้แก่ อกุศลเจตสิกมี 14 ดวง เข้าได้กับ กลุ่มอกุศลจิตเท่านั้น กลุ่มสุดท้ายคือเจตสิกฝ่ายดีงาม เข้าได้กับกลุ่มโสภณจิตเท่านั้น โสภณเจตสิกมี 25 ดวง

 


 

Home   จิต    รูป     กรรมฐาน     เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเครื่องหมายคณิตศาสตร์