2.6    วิปัสสนากรรมฐาน : การปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้ง

 

 

 

มนุษย์ล้วนแต่ต้องการหลีกหนีจากความทุกข์ และต้องการมีชีวิตอย่างสุขสบาย

แต่มนุษย์ไม่รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ และมีชีวิตที่มีความสุขอย่างแท้จริง

 

                    ในสมัยพุทธกาลก็เช่นเดียวกับสมัยปัจจุบัน คือ เชื่อกันว่าวิธีปฏิบัติภาวนาต่าง ๆ ที่สืบต่อกันมา เป็นวิธีที่สามารถดับทุกข์ได้ ซึ่งในสมัยนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงทดลองปฏิบัติตามวิธีการต่าง ๆ เหล่านั้นเช่นกัน ทรงพบว่าหาใช่เป็นหนทางดับทุกข์ได้อย่างแท้จริงไม่ จึงทรงค้นหาวิธีการที่จะดับทุกข์ได้อย่างแท้จริงด้วยพระองค์เอง และได้ข้อสรุปว่า วิธีการปฏิบัติวิปัสสนานี้เป็นวิธีการเดียวที่สามารถขจัดความทุกข์ทั้งมวลออกจากชีวิตของพระองค์ได้ ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ที่เกิดจากการมีชีวิตอยู่หรือความทุกข์ที่เกิดจากความตาย และส่งผลให้ได้ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

 

                    มีวิธีปฏิบัติภาวนาหลายวิธีที่ให้ผลเป็นความสงบเพียงชั่วครั้งชั่วคราว โดยทำให้เกิดความรู้สึกเสมือนหนึ่งว่า ได้หลุดพ้นจากความทุกข์แล้ว แต่ความจริงนั้นหากได้หลุดพ้นจากความทุกข์อย่างแท้จริงไม่ เป็นการหันเหจิตใจจากความทุกข์เฉพาะหน้าไปสู่สิ่งอื่นเท่านั้น  ในส่วนลึกของจิตเรายังคงรู้สึกถึงแรงกดดันที่มีอยู่ ยังสร้างความคิดปรุงแต่ง พร้อมจะหวั่นไหวและถูกกระตุ้นไปกับโลภะ โทสะ และโมหะ

 

                    ในชีวิตประจำวันของทุกคน แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมก็ปรารถนาที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์เช่นกัน เมื่อมีความทุกข์ก็จะพยายามหันเหความสนใจไปยังสิ่งอื่น ๆ เพื่อหลบหลีกจากความทุกข์นั้น ๆ อาจจะไปดูภาพยนตร์ ดูละคร หรือไปสถานบันเทิงต่าง ๆ หรืออาจจะไปดื่มดับทุกข์ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ช่วยให้แต่ละคนหลีกไปจากความทุกข์ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แล้วนึกเอาเองว่าตนได้พ้นจากความทุกข์นั้นแล้ว แต่ความจริงคือ หาได้หลุดพ้นจากความทุกข์ไปไม่ ในทางตรงกันข้าม ความทุกข์กลับจะเพิ่มพูนขึ้น การหลีกหนีไปจากความทุกข์จึงมิใช่เป็นการแก้ปัญหา พระพุทธองค์ทรงสอนให้เรากล้าเผชิญหน้ากับปัญหา เผชิญกับความเป็นจริง

 

                    ปัญญาที่เกิดจากการฟังหรือการศึกษาจากพระคัมภีร์เป็นเพียงสุตามยปัญญา ส่วนการใช้ความคิดแยกแยะหาเหตุผลทำความเข้าใจ จนเชื่อว่าคำสอนของพระพุทธองค์นั้น เลิศล้ำไปด้วยญาณปัญญาระดับต่าง ๆ มีความสุขุมคัมภีรภาพ แต่เราก็ไม่ได้มีประสบการณ์ตรงกับปัญญานั้น เป็นเพียงการคิดคล้อยตาม เรียกว่า จินตามยปัญญา เช่น จินตนาการในเรื่องของนามและรูป ในเรื่องของอายตนะ หรือลักษณะพื้นฐานของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  จินตนาการต่าง ๆ เหล่านี้เริ่มจากการสร้างศรัทธามั่นในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงยอมรับความเป็นจริงเหล่านี้เพราะสามารถคิดตามได้ว่า ทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง ทุกสิ่งในโลกล้วนเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นทุกข์ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และเป็นอนัตตาไร้อำนาจบงการ เป็นต้น  แรงศรัทธาผลักดันให้มีการพินิจพิจารณาศึกษาแยกแยะสิ่งแวดล้อมรอบตัว แต่ไม่ได้เกิดจากประสบการณ์ตรงของเราเอง

 

                    พระพุทธองค์ทรงต้องการให้เราพบกับสภาวธรรมที่เป็นจริงด้วยปัญญาของตนเอง คือ ภาวนามยปัญญา  พระองค์ทรงมอบแบบฝึกหัดล้ำค่าผ่านหลักการทางสติปัฏฐาน ด้วยการเริ่มค้นหาความจริงในกายก่อน เพราะกายเป็นของหยาบ พิจารณาได้ง่ายกว่า

 

ร่างกายคนเราประกอบขึ้นด้วยกายและจิต ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า กายานุปัสสนา และจิตตานุปัสสนา 

 

กายานุปัสสนา เป็นอย่างไร กล่าวคือ เราจะต้องรู้สึกได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายของเราเองเสียก่อน จึงจะกล่าวได้ว่าเป็นการปฏิบัติกายานุปัสสนา  การมีประสบการณ์เกี่ยวกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นในกายเท่านั้น จึงจะเรียกได้ว่าเรารู้จักกายและประสบการณ์ทางกาย และการที่เราสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับกายนั้น ก็เท่ากับว่าได้ปฏิบัติเวทนานุปัสสนา เช่นเดียวกันกับจิตตานุปัสสนา  ถ้าเราไม่รู้สึกว่ามีอะไรเกิดขึ้นในจิต เราย่อมไม่สามารถจะทราบถึงความรู้สึกนั้นได้ และเราก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าเราได้ปฏิบัติจิตตานุปัสสนา

 

                    เหตุที่มีการแบ่งการปฏิบัติวิปัสสนาออกไป เป็นกายนุปัสสนากับเวทนานุปัสสนา เพราะกายและเวทนาเกี่ยวข้องกับรูปหรือโครงสร้างทางร่างกาย ส่วนจิตตานุปัสสนากับธรรมานุปัสสนาเกี่ยวข้องกับจิตหรือโครงสร้างทางจิตและความต่อเนื่องของกายกับจิตมากกว่า  รูป-นามที่รู้ได้นี้ ถ้าไม่มีความเข้าใจอันเกิดจากประสบการณ์ของตนเอง เราก็อาจจะเกิดความเข้าใจผิดว่าตนได้บรรลุถึงสัจธรรมอันถูกต้องแล้ว ทั้งที่ความจริงนั้นความเข้าใจยังไม่ถูกต้องเลย การจะรู้จักสภาวธรรมอันเป็นจริงของรูปและนามได้ ต้องผ่านประสบการณ์ความรู้สึกภายในก่อนเท่านั้น และการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจะช่วยเราได้

 

 

 

 

                    นารายัน  โกเอ็นก้า (2537 : 181)ให้ทัศนะด้านการปฏิบัติไว้ในหนังสือ The Discourse Summeries ว่า คำสอนของพระพุทธองค์นั้น คือ การเปลี่ยนจากความจริงขั้นพื้นฐานตามที่ชาวโลกเข้าใจกัน มาสู่สัจธรรม คือ ความจริงอันสูงสุด ความจริงขั้นพื้นฐานนั้นมีแต่จะทำให้เกิดสิ่งลวงตาความเข้าใจผิดและความสับสน การแยกแยะสิ่งเหล่านี้ออกเป็นส่วน ๆ แล้วสังเกตดูจะทำให้เราได้พบสัจธรรม และรู้ถึงสภาวธรรมของรูปว่าเป็นเพียงความสั่นสะเทือนหรือปกัมปิโต กับเริ่มรู้ถึงสภาวธรรมของนามหรือจิตเช่นกัน  ในชั้นต้นเราจะพบว่าจิตประกอบขึ้นจาก4 ส่วนด้วยกัน คือ วิญญาณ สัญญา เวทนา สังขาร  ถ้าเราเจริญวิปัสสนาโดยถูกวิธี เราก็จะรู้แจ้งถึงการทำงานของจิต  โกเอ็นก้า ได้ยกข้อความที่พระพุทธองค์ตรัสถึงเรื่องความสั่นสะเทือนไว้ว่า

                     สพฺโพ  ปชฺชลิโต  โลโก     ,    สพฺโพ  โลโก  ปกมฺปิโต     โลกทั้งโลกมิใช่อะไรอื่น หากเป็นแต่เพียงความสั่นสะเทือน

 

                    เขาได้อธิบายถึงความหมายของความสั่นสะเทือนหรือปกัมปิโตเพิ่มเติมไว้ดังนี้

“เมื่อผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติไปจนถึงจุดหนึ่ง จะรู้สึกได้ว่าโครงสร้างทางร่างกายทั้งหมดเป็นแต่เพียงความสั่นสะเทือนเท่านั้น เมื่อตาเห็นรูปจะรู้สึกเพียงว่า มันเป็นแค่ความสั่นสะเทือน จากการเห็นต่อเนื่องเป็นชอบ ไม่ชอบ เมื่อหูได้ยินเสียงก็รู้สึกเพียงว่าเป็นเพียงความสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงแล้วต่อเนื่องเป็นความชอบหรือไม่ชอบ จมูกได้กลิ่น กลิ่นนั้นก็เป็นเพียงความสั่นสะเทือนจากอากาศ สัมผัสที่ร่างกายก็เป็นเพียงความสั่นสะเทือนของแรงกดระดับต่าง ๆ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพียงแต่สังเกตให้เห็นความจริง  การปฏิบัติวิปัสสนาจะทำให้จิตแหลมคม ว่องไว ละเอียด จนกระทั่งผู้ปฏิบัติเริ่มรู้สึกได้เอง”

 

                    ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีเสียงมากระทบหูก็เป็นเสมือนความสั่นสะเทือนมากระทบกับความสั่นสะเทือน แล้วความสั่นสะเทือนใหม่ก็เกิดขึ้น อุปมาดังการตีฆ้องลงไปเพียงครั้งเดียว แต่ความสั่นสะเทือนของฆ้องทำให้เกิดเสียงต่อเนื่องได้ระยะหนึ่งฉันใด เมื่อมีเสียงมากระทบหู ร่างกายทั้งร่างก็สั่นสะเทือนฉันนั้น เมื่อแรกเริ่มขณะเป็นเด็กอาจรู้สึกแต่เฉพาะกระแสความสั่นสะเทือนทางจิต ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ปกติธรรมดา (อทุกขมสุขเวทนา)

 

แต่เมื่อเจริญวัยขึ้นถ้ามีเสียงมากระทบหู ส่วนหนึ่งของจิตที่เรียกว่า วิญญาณ จะบอกให้รู้ว่ามีสิ่งมากระทบหู หน้าที่ของวิญญาณ คือ รับรู้  วิญญาณเป็นส่วนแรกของจิตที่คอยรับรู้ว่ามีอะไรมากระทบที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  ต่อจากนั้นอีกส่วนหนึ่งของจิตก็จะทำหน้าที่ของมัน ส่วนนั้นคือสัญญา หน้าที่ของสัญญา คือ ความจำได้หมายรู้  สัญญาจะจำเสียงนั้นว่าเป็นเสียงอะไร เป็นคำพูดคำพูดชนิดไหน ชมหรือตำหนิ นี่คือหน้าที่ของสัญญา  ซึ่งสัญญานี้จะถูกครอบงำโดยสังขาร หรือสิ่งปรุงแต่งในอดีตของเรา  ดังนั้น สัญญาก็จะแยกแยะเสียงนั้นออกตามความคิดปรุงแต่งแต่อดีต ในทันทีที่สัญญาแยกแยะได้ว่าเสียงนั้นเป็นเสียงตำหนิ ผู้เป็นนักปฏิบัติจะรู้สึกได้ทันทีว่าความสั่นสะเทือนที่ไม่สบายขึ้นมาทันที และนั่นก็คือ ทุกขเวทนา ทั้งนี้เพราะสัญญาส่งสัญญาณว่าคำพูดที่มากระทบหูนั้นเป็นคำพูดที่ไม่ดี  ในทางตรงข้ามหากคำพูดนั้นดี เป็นคำชมเชย ความรู้สึกในร่างกายความสั่นสะเทือนในกายก็จะให้ความรู้สึกที่สบายหรือเกิดสุขเวทนา จะเห็นได้ว่าความสั่นสะเทือนในกายนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามสัญญาหรือความจำได้หมายรู้

 

                    เมื่อวิญญาณทำหน้าที่รับรู้ว่า มีอะไรมากระทบที่ส่วนไหนของร่างกาย สัญญาแยกแยะชนิดสิ่งที่มากระทบนั้น ส่วนที่3 ของจิต คือ เวทนาหรือความรู้สึกก็เกิดขึ้น เป็นความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ ส่วนที่ 4 ของจิต คือ สังขารก็จะเริ่มทำงาน หน้าที่ของสังขาร คือ ทำปฏิกิริยาปรุงแต่งความรู้สึกนั้น ถ้าเป็นความรู้สึกชอบก็จะมีปฏิกริยาปรุงแต่งเป็นความต้องการ ความปรารถนา หรือเป็นราคะ โลภะ  ถ้าเป็นความรู้สึกไม่ชอบก็จะมีปฏิกริยาปรุงแต่งเป็นความไม่พอใจ คือ โทสะ ซึ่งความรู้สึกไม่พอใจทำให้เราไม่ชอบ ไม่ต้องการ  ด้วยเหตุฉนี้ราคะและโทสะจึงเกิดขึ้นจากส่วนที่4 ของจิต คือ สังขาร

 

                    ขอให้เข้าใจว่าปรากฏการณ์ข้างต้นนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นส่วนใด ไม่ว่าจะเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ  ทุก ๆ ขณะจะต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากระทบที่ทวารทั้ง 6 อยู่เสมอ และทุก ๆ ขณะวิญญาณก็จะรับรู้ สัญญาจะส่งความจำ เวทนาจะรู้สึก และสังขารก็จะทำปฏิกริยาปรุงแต่ง ด้วยโลภะหรือโทสะแล้วแต่กรณี และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นตลอดเวลา-ตลอดชีวิต

 

                    ถ้าสังเกตอย่างผิวเผิน ดูเหมือนว่าเรามีปฏิกริยาปรุงแต่งต่อเสียงที่มากระทบด้วยความพอใจหรือไม่พอใจ ปฏิกริยาปรุงแต่งต่อรูปที่มากระทบตาด้วยความพอใจหรือไม่พอใจ หรือมีปฏิกริยาปรุงแต่งต่อกลิ่น ต่อรส ต่อสัมผัส ต่ออารมณ์  แต่ตามความเป็นจริงแล้วมิใช่เช่นนั้น พระพุทธองค์ทรงพบว่าเรามีปฏิกริยาปรุงแต่งต่อความรู้สึกหรือเวทนาของเราต่างหาก ในบทว่า

                    “สฬายตนะ ปัจจยา ผัสโส”  อายตนะ 6 หรือทวาร 6 เป็นที่กระทบกับสิ่งภายนอก  การกระทบนี้เรียกว่า ผัสสะ

                    “ผัสสะ ปัจจยา เวทนา”  (ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา)เพราะเหตุที่มีสิ่งมากระทบทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นที่ร่างกายเป็นสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา แล้วตัณหาก็เกิดขึ้น

                    “เวทนา ปัจจยา ตัณหา”  (เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา)เมื่อมีความรู้สึกพอใจก็อยากได้ หากรู้สึกไม่พอใจก็โกรธเคือง

 

                    พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้สัจธรรมเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง เมื่อได้ทรงสำรวจลึกเข้าไปภายในร่างกายของพระองค์ ได้ทรงพบรากเหง้าของปัญหา และพบทางแก้ คือ การขจัดทุกข์อย่างขุดรากถอนโคน  นั่นคือ เมื่อไรที่เราเกิดมีความรู้สึกขึ้นมา ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด เพียงแต่สังเกตดูความรู้สึกนั้นไป

สมุทยา  ธัมมานุปัสสี  กายัสสมิง  วิหรติ

วายาธัมมานุปัสสี  วา  กายัสสมิง  วิหรติ

สมุทยา  วายา  ธัมมานุปัสสี  วา  กายัสสมิง  วิหรติ

“ความรู้สึกทุกชนิดเกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีอะไรเที่ยงแท้”

 

เมื่อเราเริ่มรู้สึกถึงสภาวธรรมที่เกิดขึ้นว่า ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นแล้วไม่ช้าก็ดับไป ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกยินดี หรือยินร้ายก็มิได้ต่างกัน ล้วนแต่เกิดขึ้นแล้วดับไป มีความไม่เที่ยง เรียกว่า อนิจจลักษณะ 
 

เราไม่ควรเชื่อในหลักของไตรลักษณ์ เพียงเพราะพระพุทธองค์ทรงสอนเช่นนั้น

ไม่ควรเชื่อเรื่องอนิจจัง เพียงเพราะพระคัมภีร์กล่าวไว้เช่นนั้น

หรือว่าเพราะเป็นประเพณีเชื่อถือกันมาอย่างนั้น หรือคิดดูแล้วน่าจะเป็นอย่างนั้น

 

แต่ควรเชื่อถือในความไม่เที่ยงแท้ก็ต่อเมื่อ  ประจักษ์ด้วยตนเองเท่านั้น ว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป ความดับไปเป็นปัจจัยให้เกิดใหม่อีก 

 

นี่คือการเปลี่ยนจากสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญา มาเป็นภาวนามยปัญญา

 

และเมื่อถึงขั้นนั้นแล้วจิตของเราก็จะเริ่มเปลี่ยนไป เริ่มลดปฏิกริยาปรุงแต่งต่อสิ่งที่มากระทบเพราะเข้าใจถึงความไม่เที่ยงแท้ เริ่มเปลี่ยนนิสัยของจิตในส่วนที่ลึกที่สุด เมื่อเราหยุดสร้างสังขารหรือการปรุงแต่ทางจิตและทางความคิด ด้วยความโลภหรือความโกรธ การปรุงแต่งทางจิตเก่า ๆ ที่ผุดขึ้นมาบนพื้นผิวของจิตแล้วไม่ได้รับการตอบสนองเหมือนก่อนก็จะสลายไป นั่นคือ การหลุดพ้นจากการปรุงแต่งเก่า ๆ ของโลภะของโทสะ เพราะปราศจากความหลงผิด คือ โมหะ นั่นเอง เป็นการสังเกตแต่ความจริงอย่างที่เป็นอยู่ หรือยถาภูตา

 

มีกำแพงกีดขวางอยู่ระหว่างส่วนที่เป็นพื้นผิวของจิตกับส่วนที่ลึกลงไป ซึ่ง J.C.Jung แบ่งออกเป็น จิตสำนึก (Conscious Mind)และจิตไร้สำนึก (Unconscious Mind)

โกเอ็นก้า ให้ทัศนะว่า พระพุทธองค์มิได้เรียกเช่นนี้ พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงปริตตจิต (Parittacitta)นั้น หมายถึงส่วนเล็ก ๆ ของจิต เรียก จิตสำนึก 

กำแพงขวางกั้นระหว่างจิตสำนึก และจิตไร้สำนึก ก็คือ จิตสำนึกไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นภายในจิตไร้สำนึก  การปฏิบัติวิปัสสนาจะช่วยทำลายกำแพงนั้นระหว่างจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึก จากปริตตจิตวิปัสสนาจะนำเราไปยังภวังคจิต หรือจิตไร้สำนึกอันเป็นที่อยู่ของอนุสัยกิเลส หรือกิเลสที่เนืองนองอยู่ในสันดาน

                   

 

                    ตามทัศนะของ โกเอ็นก้า ภวังคจิตหรือจิตไร้สำนึกนั้น หมายถึงจิตใจที่รักษาภพชาติของตน (ภว= ความเกิด, ความมี,ความเป็นภวังคจิต คือ ส่วนที่ลึกที่สุดของจิต อันมีความไม่บริสุทธิ์ หรือสังขาร (สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง)ซ่อนอยู่  ซึ่งหล่อเลี้ยงให้เกิดภพติดต่อกันไป สังขารขันธ์ หรือสิ่งไม่บริสุทธิ์ที่อยู่ภายในจิตไร้สำนึกนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อนุสัยกิเลส(อน = ตาม, เสวย = การนอน) คือ กิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน  ซึ่งจะติดตามเราไปทุกภพทุกชาติอย่างไม่รู้ตัว เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมจะถูกกระตุ้นและหาทางแสดงออกเป็นกิเลสอย่างกลาง (ความคิด)และอย่างหยาบ (ทางกาย วาจา) เมื่อพระพุทธองค์ยังมิได้บรรลุพระสัมมนาสัมโพธิญาณได้ทรงลองปฏิบัติภาวนาด้วยวิธีการต่าง ๆ จนบรรลุถึงญาณสมาบัติทรงพบว่าแม้การบำเพ็ญทุกรกิริยา ซึ่งเชื่อกันว่าสามารถเผาไหม้กิเลสได้ แต่ก็ไม่สามารถทำลายตัวเชื้อเพลิง คือ กิเลสได้จริง ในที่สุดทรงพบว่า การปฏิบัติวิปัสสนาเท่านั้นจึงจะสามารถกำจัดกิเลสส่วนที่เป็นอนุสัยเหล่านี้ได้

 

นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกว่า พระพุทธองค์ได้ทรงศึกษาเข้าไปถึงส่วนลึกภายในจิตใจ ในขณะที่คนส่วนใหญ่จะปฏิบัติกันอยู่แค่พื้นผิวของจิตใจเท่านั้น

 

พระองค์เป็นผู้ที่สามารถขุดรากเหง้าแห่งความทุกข์ออกมาได้ กำแพงที่ขวางกั้นระหว่างจิตสำนึกและจิตไร้สำนึกจะต้องถูกทำลายเสียก่อน ทุกชีวิตจึงจะพบกับทางหลุดพ้น ตามความเป็นจริงแล้วจิตไร้สำนึกนั้นมิใช่ว่าจะไร้สำนึกตลอดเวลา จิตไร้สำนึกจะรักษาชีวิตประจำภพภูมิของตนอยู่อย่างต่อเนื่อง หากแต่จะมีปฏิกิริยาก็ต่อเมื่อมีความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกายเท่านั้น เมื่อเกิดความรู้สึกไม่พอใจ ก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองด้วยโทสะเช่นนี้ คือ แบบแผนพฤติกรรมของจิต และถ้าจิตยังถูกคุมขังอยู่ ด้วยกิเลสตัณหาของความโลภ ความโกรธแล้ว การหลุดพ้นจากความทุกข์จะมีได้อย่างไร

 

                    ตัวอย่างต่อไปนี้จะแสดงให้เห็นถึงการทำงานของจิตสำนึกและจิตไร้สำนึก  ขณะที่เรานอนหลับอยู่นั้น สิ่งที่หลับอยู่จริง ๆ แล้วคือจิตสำนึกของเรา จิตไร้สำนึกไม่เคยหลับ ตลอดเวลาจิตไร้สำนึกจะตื่นอยู่และรับความรู้สึกบนร่างกายเสมอ ไม่ว่าเป็นเวลากลางวันหรือเวลากลางคืน และจะมีปฏิกิริยาตอบสนองความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกาย ด้วยความพอใจหรือความไม่พอใจ โลภะหรือโทสะอยู่ตลอดเวลา สมมติว่าขณะกำลังหลับอยู่และมียุงมากัด ความรู้สึกในร่างกายคือความไม่สบาย ความไม่พอใจ  จิตสำนึกของเราไม่ทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้น แต่จิตไร้สำนึกรู้ได้ทันที ในความรู้สึกไม่สบายที่เกิดขึ้น โทสะก็เกิดขึ้น ความไม่พอใจก็เกิดขึ้น จิตไร้สำนึกจะสั่งการให้ไล่ยุงไปหรือตบยุงให้ตาย แต่ความรู้สึกไม่สบายนั้นก็ยังอยู่ และจิตไร้สำนึกก็จะสั่งร่างกายเกาที่ตรงนั้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในระหว่างที่เราหลับ แต่เมื่อตื่นขึ้นมา ถ้ามีใครสักคนถามเราว่าเมื่อคืนถูกยุงกัด
กี่ครั้ง เราจะตอบไม่ได้เพราะไม่ทราบ เนื่องจากจิตสำนึกไม่ทราบ ทั้งที่ยุงได้กัดเราหลายครั้งหลายหน และจิตไร้สำนึกของเรามีการตอบโต้อยู่ตลอดเวลา

 

                    อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมติว่าเรากำลังนอนหลับสนิทอยู่ในท่านอน น้ำหนักตัวที่กดลงไปทำให้เกิดความเมื่อยและต้องเปลี่ยนท่า ต้องพลิกตัวนอนตะแคง อีก10 - 20 นาทีต่อมา แรงกดของน้ำหนักตัวก็จะเกิดขึ้นอีก เป็นเช่นนี้ทั้งคืน ในตอนเช้าหากมีใครมาถามว่าพลิกตัวสักกี่ครั้ง เราก็ตอบไม่ได้ ทั้งนี้เพราะมีกำแพงขวางกั้นของจิตสำนึกและไร้สำนึกมีอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่ากลางคืนหรือกลางวัน

 

                    ถ้าเราคอยสังเกตดูใครสักคนที่นั่งอยู่ในที่เดียวสัก 10 - 15 นาที จะเห็นว่าบุคคลผู้นั้นต้องขยับเนื้อขยับตัวอยู่เสมอโดยที่เขาไม่รู้ตัวเลย ทั้งนี้เพราะเขาไม่รู้ว่า เวทนาคืออะไร เขาไม่รู้ว่าเขามีปฏิกริยาตอบสนองต่อเวทนาด้วยความไม่พอใจ ความไม่รู้ที่ขวางกั้นนี้เรียกว่าอวิชชา จึงไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น แต่การปฏิบัติวิปัสสนา คือ การทำลายสิ่งกีดขวางหรืออวิชชานั้น

 

ด้วยวิปัสสนาเราจะเริ่มเข้าใจว่า เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา (เวทนาปัจจยาตัณหา)ได้อย่างไร เมื่อมีความไม่สบายใจเกิดขึ้น ความโกรธ ความไม่พอใจก็ตามมา  พฤติกรรมเช่นนี้ถ้าไม่ขจัดออกไปเสียก็จะมีแต่ความโลภ ความโกรธ หรือมีโลภะ โทสะตลอดเวลา โดยผิวเผินอาจจะกล่าวได้ว่าได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระบรมศาสดาแล้ว แต่ทุกวันนี้เรามิได้ทำเช่นนั้นเลย กลับไปปฏิบัติตามคำสั่งของกิเลส คือ อวิชชาต่างหาก พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราเข้าไปให้ถึงส่วนลึกภายในจิต ส่วนที่เป็นรากเหง้าของความทุกข์ ความทุกข์เกิดขึ้นจากการที่เรามีปฏิกิริยาปรุงแต่งตามความรู้สึกพอใจ หรือไม่พอใจ  ต้นเหตุอยู่ที่นี่ จึงต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา ณ จุดนี้

                   

 

                   การกำหนดรู้ด้วยสติสัมปชัญญะในระดับจิตสำนึก ทำให้เรารู้ถึงการทำงานของจิตใจตนเอง กล่าวคือ กลไกของความรู้สึกและกิเลสตัณหา ความน่าเชื่อถือในการคิดอ้างเหตุผลของตนเอง แรงจูงใจที่แท้ แรงเสแสร้ง เพื่อการยอมรับในจุดเด่นและจุดด้อยของตนเอง ตลอดจนบางจุดที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีในตัวเรา ก็รู้ได้เป็นครั้งแรก (พระญาณโปนิกเถระ: 2534 : 40)

 

                    โกเอ็นก้า ให้ความหมายของอาสวะไว้ว่า

“อาสวะ หมายถึง การไหลซึมผ่านคล้ายกับการไหลของหนองที่ซึมออกจากบาดแผล มี 3อย่าง คือ กามาสวะหรือกระแสแห่งกาม ภวอาสวะหรือกระแสแห่งภพ  อวิชชาอาสวะ คือ กระแสแห่งอวิชชา  การไหลซึมที่ว่านี้ที่จริงก็คือปฏิกิริยาทางเคมีในร่างกายที่เกิดจากความไม่บริสุทธิ์ทั้งมวลในจิตใจ เมื่อใดที่ได้บรรลุอรหัตตผล กระแสกิเลสทั้งสิ้นจะหยุดไหล ที่เรียกว่า “อนาสโว” นอกจากนี้ อาสวะยังแปลว่าความมึนเมา หมายถึงกระแสกิเลสที่ไหลซึมย้อมจิตใจ ให้รู้สึกมึนเมา เพลิดเพลิน หลงใหล ทำให้อยากจะรู้สึกเช่นนั้นอยู่ร่ำไป  ซึ่งแสดงว่าพระพุทธองค์ทรงเข้าพระทัยดีว่าคนเราติดอยู่กับความรู้สึกทางกายที่เกิดจากความมึนเมา ซึ่งย้อมจิตใจให้ไหลหลงอยู่ในความรู้สึกสบายทางกาย ที่เรียกว่า อาสวะ  เมื่อคนพูดว่าเขาติดเหล้า ติดยาเสพติด ความจริงเขาไม่ได้ติดเหล้า ติดยาเสพติด แต่เขาติดความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกายเมื่อเขาเสพ  สิ่งเหล่านี้ เช่น เมื่อเขาดื่มเหล้า ปฏิกิริยาทางเคมีบางอย่างจะเกิดขึ้นในเลือด ทำให้มีความรู้สึกขึ้นทางกายและเขาชอบความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ อยากจะให้มีความรู้สึกเช่นนี้อยู่เรื่อย ๆ ทั้งนี้มิใช่ว่าเขาติดเหล้า หากแต่เขาติดความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่างหาก”

 

                    พระพุทธองค์ทรงต้องการให้เราพิจารณาความทุกข์และเหตุแห่งทุกข์หรือสมุทัย ถ้าไม่พิจารณาทั้งสองสิ่งนี้ก็จะไม่สามารถถึงความพ้นทุกข์ (ทุกขนิโรธ)ได้  เหตุแห่งความทุกข์หรือ
สมุฏฐานแห่งความทุกข์ ได้แก่ ปฏิกิริยาของความโลภ ความหลง ที่ปรุงแต่งต่อความรู้สึก จึงทำให้มีความทุกข์เกิดขึ้น  ถ้าไม่มีปฏิกิริยาปรุงแต่งต่อความรู้สึกนั้น ความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะน่ารักใคร่หรือน่ารังเกียจสักเพียงใด แม้เราห้ามความรู้สึกและปฏิกิริยาปรุงแต่งไม่ได้ก็จริง แต่สติที่เราฝึกฝนจนมีอำนาจจะคอยกำกับความรู้สึกนั้นแทนกิเลส สามารถนิ่งดูความรู้สึกที่กำลังผ่านมาและปล่อยให้ผ่านไปโดยปราศจากอคติ เพราะรู้ถึงความไม่เที่ยง รู้ว่าทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง แล้วชีวิตก็จะราบรื่นขึ้น  พฤติกรรมทางจิตก็จะเปลี่ยนแปลงไปในระดับที่ลึกที่สุดของจิตใจ

 

                    ถ้าในส่วนลึกสุดของจิตยังคงมีปฏิกิริยาปรุงแต่งต่อสิ่งที่กระทบ ด้วยความพอใจหรือไม่พอใจ เกิดความโลภ หรือความโกรธขึ้นตามความรู้สึกนั้น ๆ ก็จะยังไม่สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้  ไม่ว่าเราจะนับถือหรือศรัทธาในศาสนาสักเพียงใด ก็ไม่อาจจะหลุดพ้นได้ เพราะมิได้เปลี่ยนแปลงจิตใจภายในของเรา

 

                    บุคคลผู้มีความทุกข์จากความโกรธ จากความลุ่มหลง จากความกลัว คนที่มีความทุกข์จากความหลงตน มีความไม่บริสุทธิ์ในจิตใจทุกชนิด เมื่อได้ปฏิบัติวิปัสสนากระแสแห่งกิเลสก็จะเริ่มหลั่งไหลออกมา หลั่งไหลออกมา ในไม่ช้ากระแสกิเลสก็จะหลั่งไหลออกสู่จิตสำนึกมาอย่างชัดเจน นี่คือผลแห่งวิปัสสนาที่จะสามารถรู้สึกได้โดยไม่จำกัดเวลา จากนั้นขบวนการชำระล้างจึงมีโอกาสเป็นไปได้

 

                    ฉะนั้น เราจึงต้องปฏิบัติให้เห็นถึงส่วนที่ทำให้เกิดเวทนา (ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับกาย หรือ Sensation) จึงจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมทางจิตได้ การปฏิบัติด้วยวิธีการกำหนดรู้เฉย ๆ นี้ เป็นทางนำเข้าไปถึงส่วนที่ลึกที่สุดของจิต ถ้าหากปฏิบัติให้เข้าถึงแต่เพียงแค่พื้นผิวของจิตก็จะเปลี่ยนได้แต่เพียงส่วนที่เป็นจิตสำนึกเท่านั้น ทำได้แค่เปลี่ยนแปลงความรู้ความเข้าใจของเรา แต่จะไม่ได้เข้าไปถึงรากเหง้าอันเป็นสาเหตุ รากเหง้าของจิตซึ่งอยู่ในชั้นของภวังคจิตหรือจิตไร้สำนึก และเราก็จะไม่อาจขุดค้นเอาอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานให้ออกมาได้ อนุสัยกิเลสเป็นเสมือนภูเขาไฟที่สงบอยู่ ซึ่งจะระเบิดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ แรงระเบิดมีพลังงานส่งให้เรายังคงเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏอย่างไม่มีวันหลุดพ้นจากความทุกข์ แต่วิธีการทางวิปัสสนาเป็นการค้นหาถึงเชื้อเพลิงที่เคยให้พลังงานออกมา แล้วทำลายเชื้อเพลิงนั้นเสีย เมื่อไม่มีแหล่งเชื้อเพลิง (อนุสัยกิเลส)ชีวิตจึงหลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการทั้งมวล และพบกับความสงบเย็นอันแท้จริง

 

                    กระบวนการค้นหาแหล่งเชื้อเพลิงดังกล่าว ต้องอาศัยความเพียรพยายามของตนเองเท่านั้น พระพุทธองค์เพียงบอกกล่าวถึงที่มาและที่ไปให้ ความรู้สึกนึกคิดอันเป็นอนุสัยต่าง ๆ เป็นคุณสมบัติส่วนบุคคล ไม่อาจหยิบยื่นความรู้สึกแทนกันหรือปัดเป่ากิเลสออกจากจิตใจใครได้ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ เกิดขึ้นจากภาพลักษณ์ที่เราสร้างขึ้นเองเพียงลำพัง ฉันใดฉันนั้น การพึ่งความสามารถของตนเองในการหยุดสร้างภาพพจน์ทั้งดีและไม่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

 

ในมหาปรินิพพานสูตร พระพุทธองค์ทรงกล่าวกับพระอานนท์ถึงหลักการแห่งความเชื่อมั่นและการพึ่งตนเองไว้ว่า
 

“เพราะเหตุนั้นแล อานนท์ จงเป็นที่พักพิงของตนเอง จงเป็นที่พึ่งของตนเอง อย่ายึดถือที่พึ่งภายนอก จงมีธรรมเป็นที่พักพิงของตน จงมีธรรมเป็นที่พึ่งของตน อย่ายึดถือที่พึ่งอย่างอื่นคืออย่างไร”

“ดังนั้น อานนท์ ภิกษุเฝ้าดูกายในกาย เฝ้าตามดูเวทนาในเวทนา เฝ้าตามดูจิตในจิต เฝ้าตามดูธรรมในธรรม มีความเพียร มีสัมปชัญญะและสติ กำจัดความใคร่ (อภิชฌา)และความเสียใจ (โทมนัส)ในโลกนี้ได้”

“อนึ่งแล อานนท์ บุคคลผู้ใดก็ตาม ไม่ว่าในปัจจุบันนี้ หรือหลังจากเราปรินิพพานไปแล้ว หากเป็นที่พักพิงของตนเอง เป็นที่พึ่งของตนเอง ไม่ยอมตนให้มีที่พึ่งภายนอก ยึดมั่นในธรรมว่าเป็นที่พักพิง เป็นที่พึ่ง ไม่ยึดที่พึ่งในสิ่งอื่น อานนท์ ในท่ามกลางภิกษุทั้งหลายของเรา บุคคลนั้นจะบรรลุถึงสิ่งที่สูงสุด แต่เขาจักต้องเพียรพยายามในการศึกษา”

(ที.. 10/93/113)

 

 

กล่าวโดยสรุปแล้ว การเจริญกรรมฐานเป็นกิจกรรมที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ในคัมภีร์พระไตรปิฎกกล่าวถึงกรรมฐานไว้ 2 ชนิด คือ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ทั้งสมถและวิปัสสนา มีสติปัฏฐานเป็นเหตุ  ซึ่งมิใช่สติในความหมายโดยทั่วไปที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงลักษณะพิเศษ และข้อจำกัดต่าง ๆ ของสติเสียก่อน เพื่อที่จะสามารถใช้สติเป็นบาทฐานแก่การเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานได้อย่างถูกต้อง

ที่กล่าวว่า ต้องมีลักษณะพิเศษ  เพราะสติปัฏฐาน จะใช้เพื่อการระลึกรู้สึกตัวว่ามีความเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นในร่างกายและจิตใจตนเองเท่านั้น  รู้ว่าความเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกนึกคิดนั้น ทำให้เกิดการตอบสนองอย่างไร และสิ้นสุดลงเพราะเหตุใด  การเรียนรู้ลักษณะของสติเช่นนี้เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง  ที่ใช้ในการควบคุมความคิดและพฤติกรรมให้เป็นไปอย่างเหมาะสม รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา  ทั้งนี้มิใช่เพียงแค่ประโยชน์ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสงบสุขเท่านั้น แต่สามารถยอมสละชีวิตตนเองออกจากวัฏฏะอันไร้แก่นสารได้อย่างกล้าหาญเช่นกัน

                   

 

สติปัฏฐานเกี่ยวข้องกับกระบวนการสืบค้นกิเลสตัณหาภายในจิตใจตั้งแต่ระดับจิตสำนึกไปถึงจิตใต้สำนึก การสืบค้นกิเลส ตัณหาดังกล่าวจำเป็นต้องมีความเชื่อมั่น มีปัญญา และเกิดจากความเพียรพยายามของตนเองเท่านั้น มิใช่ได้มาด้วยการพึ่งพา หรือ รอการดลบันดาลจากผู้อื่น

                   

 

                    ทั้งพระธรรมปิฎก นารายัน  โกเอ็นก้า เลียวนาร์ด เอ บุลเลน และพระญาณโปนิกเถระ มีความเห็นคล้ายกันว่า หากเราสามารถชำระการรับรู้อารมณ์ของเราให้บริสุทธิ์ปราศจากอคติ ตามหลักแห่งสติปัฏฐานแล้ว การกำหนดรู้ถึงอคติในระดับจิตสำนึกนี้จะแผ่อิทธิพลผ่านกำแพงเข้าไปถึงอคติในระดับจิตใต้สำนึกด้วย  อคติเหล่านี้จะได้รับการพิจารณาใหม่ด้วยสติ นั่นคือ แนวโน้มของการหลุดพ้นจากเครื่องผูกพันทั้งทางความคิดและอารมณ์ที่ไม่เป็นไปตามความเป็นจริงแห่งเหตุปัจจัย  แนวโน้มดังกล่าว คือ จุดมุ่งหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา

 


 แนวคิดจากสติปัฏฐานสูตร   :   สาระสำคัญของสติปัฏฐานสูตร   :   การปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้ง   :   กลับสู่หน้าสารบัญ